บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน อาจต้องเริ่มศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการกำหนดราคาโอน ( Transfer Pricing ) ตลอดปีนี้ เพื่อทำเอกสารให้ถูกต้องเพื่อส่งกรมสรรพากรในปีหน้า จะมีข้อมูลอะไรบ้างที่ต้องเตรียมตัวกันไว้ มาดูกันครับ
ครั้งนี้จะมาคุยเรื่องของ มาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอน ( Transfer Pricing ) ตามพระราชบัญญัติฉบับที่ 47 ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้สำหรับรอบบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นต้นไป
กฎหมายฉบับดังกล่าวจะมีผลกระทบกับบริษัทที่มีบริษัทย่อย หรือ มีบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งอยู่ในกลุ่มธุรกิจเดียวกัน และบริษัทต่างชาติในประเทศไทยที่มีบริษัทแม่อยู่ในต่างประเทศ โดยเนื้อหาใจความที่สำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ กรณีบริษัทที่มีความสัมพันธ์กันและมีข้อกำหนดทางด้านการพาณิชย์ (การขาย) หรือการเงินระหว่างกันแตกต่างไปจากปกติธุรกิจซึ่งทำให้เชื่อว่ามีการถ่ายโอนกำไรระหว่างกัน ทางเจ้าหน้าที่สรรพากรมีอำนาจในการประเมินปรับปรุงรายได้และค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามความเป็นจริงหากบริษัทดังกล่าวได้ดำเนินการโดยอิสระเสมือนว่าบริษัทดังกล่าวได้ดำเนินการโดยปกติธุรกิจ ซึ่งบริษัทที่มีความสัมพันธ์กันต้องมีลักษณะดังนี้
1 นิติบุคคลหนึ่งถือหุ้นในนิติบุคคลหนึ่งไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด
2 ผู้ถือหุ้นเป็นหุ้นส่วนในนิติบุคคลหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และถืออีกนิติบุคคลหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และมีการทำรายการระหว่างกันโดยถูกควบคุมโดยผู้ถือหุ้นเดียวกัน
3 นิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันในด้านทุน การจัดการ หรือการควบคุมในลักษณะที่นิติบุคคลหนึ่งไม่อาจดำเนินการโดยอิสระจากอีกนิติบุคคลหนึ่ง
บริษัทที่มีความสัมพันธ์กันในลักษณะดังที่กล่าวทั้งบริษัทใหญ่และบริษัทย่อย ( เฉพาะบริษัทที่ประกอบกิจการในประเทศไทย ) ถ้ามีรายได้รวมตั้งแต่ 200 ล้านบาทขึ้นไปในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีต้องมีการจัดทำรายงานข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่มีความสัมพันธ์กัน และ มูลค่ารวมของธุรกรรมระหว่างกันในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีและต้องยื่นรายงานภายใน 150 วันนับแต่ปิดรอบระยะเวลาบัญชี แต่อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวต้องรอประกาศจากกระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจจะมีการปรับเกณฑ์ของรายได้รวมที่ต้องรายงานให้สูงขึ้น และรูปแบบของรายงานที่ต้องรายงานนั้นจะมีแบบฟอร์มอย่างไร ซึ่งคาดว่ากระทรวงการคลังจะออกหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ทั้งหมดได้ภายในปี 62
จากที่กล่าวข้างต้นจะพบว่าบริษัทที่มีความสัมพันธ์กันแบบบริษัทใหญ่และบริษัทย่อย และมีรายได้รวมเกินกว่า 200 ล้านบาทในปี 62 มีภาระต้องจัดทำรายงานยื่นต่อกรมสรรพากรภายใน 150 วันนับแต่ปิดรอบบัญชี แต่อย่างไรก็ตามหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนต้องรอประกาศจากกระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้ความชัดเจนทั้งหมดแล้วผมจะกลับมารายงานให้เพื่อนๆได้รับทราบอีกครั้งหนึ่งในบทความครั้งถัดไป
ผู้เขียน คุณสุวัฒน์ มณีกนกสกุล กรรมการบริหาร บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด