มาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 250
ความท้าทายของผู้สอบบัญชีกับ มาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 250 ซึ่งกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับ “การดำเนินธรุกิจ” ที่ส่งผลกระทบในการจัดทำงบการเงินนั้น
ในปี 2561 ที่ผ่านมานั้น มาตรฐานการสอบบัญชีที่มีการกล่าวถึงและอยู่ในความสนใจของผู้สอบบัญชีกันค่อนข้างมาก คือ มาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 250 (ปรับปรุง) “การพิจารณากฎหมายและข้อบังคับในการตรวจสอบงบการเงิน” (ให้ถือปฏิบัติกับการตรวจสอบงบการเงินสำหรับรอบบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 15 ธันวาคม 2561) เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดจรรยาบรรณ เนื่องจากทางหน่วยงาน International Ethics Standards Board for Accountants (IESBA) ได้มีการออกมาตรฐานจรรยาบรรณระหว่างประเทศในเรื่องเกี่ยวกับการตอบสนองต่อการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับ หรือ “Responding to Non-compliance with Laws and Regulations (NOCLAR)” เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้สอบบัญชี ในกรณีที่มีการตรวจสอบกิจการลูกค้าและได้ทราบเรื่องที่มีการปฏิบัติผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ในการประกอบธุรกิจนั้นผู้บริหารมีความรับผิดชอบในการปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ซึ่งถ้าหากพิจารณาจากผลกระทบต่อจำนวนเงินต่าง ๆ ในการจัดทำงบการเงินหรือการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงิน ผู้เขียนขอพิจารณาแยกกฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ ตามผลกระทบต่อการกำหนดจำนวนเงินต่าง ๆ ในการจัดทำงบการเงินหรือการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงิน ได้ 2 ลักษณะ ได้แก่
ผลกระทบโดยตรง
กฎหมายหรือข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและส่งผลกระทบโดยตรงต่อการกำหนดจำนวนเงินต่าง ๆ ในการจัดทำงบการเงินหรือการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงิน เช่น ประมวลรัษฎากร เป็นต้น
ผลกระทบทางอ้อม
กฎหมายหรือข้อบังคับต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจโดยทั่วไปเพื่อให้กิจการสามารถดำเนินธุรกิจได้ ซี่งโดยปกติแล้วนั้นหากมีการปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อบังคับก็จะไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อจำนวนเงินต่าง ๆ ในการจัดทำงบการเงิน แต่ถ้าหากมีการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อบังคับก็จะก่อให้เกิดผลกระทบจำนวนเงินต่าง ๆ ในการจัดทำงบการเงิน เช่น ค่าปรับต่าง ๆ ที่จะต้องบันทึกหรือเปิดเผยให้แก่ผู้ใช้งบการเงินทราบ หรือผลกระทบอื่น ๆ ที่ตามมาต่อกิจการซึ่งอาจมีผลกระทบที่เป็นสาระสำคัญต่องบการเงิน
ความท้าทายของการปฏิบัติงานสอบบัญชีอยู่ที่ว่า กฎหมายและข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวข้องกับ “การดำเนินธรุกิจ” ที่ส่งผลกระทบทางตรงและทางอ้อมการกำหนดจำนวนเงินต่าง ๆ ในการจัดทำงบการเงินนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก เนื่องจากไม่ว่ากิจการจะประกอบธุรกิจประเภทใดก็ตาม ย่อมมีกฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นจำนวนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายเพื่อการเตรียมความพร้อม การวางแผนและตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดความเสียหายต่าง ๆ ได้
มาตรฐานการสอบบัญชีรหัสนี้ได้มีการกำหนดความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีในการได้มาซึ่งความเชื่อมั่นอย่างสมเหตุสมผลว่า งบการเงินโดยรวมปราศจากการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ ไม่ว่าจะเกิดจากการทุจริตหรือข้อผิดพลาด ซึ่งในการปฏิบัติงานนั้นผู้สอบบัญชีจะต้องพิจารณากรอบทางกฎหมายและข้อบังคับที่ใช้กับกิจการที่มีอยู่เป็นจำนวนมากตามที่กล่าวข้างต้น จึงเป็นเรื่องท้าทายของผู้สอบบัญชีเป็นอย่างมากว่าจะทราบได้อย่างไรว่ามีกฎหมายและข้อบังคับอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของกิจการที่กำลังจะพิจารณารับงานหรือกำลังตรวจสอบอยู่
อย่างไรก็ตามผู้สอบบัญชีจะทราบได้ว่ามีกฎหมายและข้อบังคับอะไรบ้างที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของกิจการ ด้วยวิธีการตามตัวอย่างดังนี้
1. การจัดให้มีคณะทำงานภายในสำนักงานตรวจสอบบัญชีเพื่อศึกษาข้อกฎหมายและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจแต่ละประเภท และวิธีการที่กิจการจะปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายและข้อบังคับ ซึ่งรวมถึงการรวบรวมกรณีศึกษาในประเด็นที่เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อบังคับจากประสบการณ์ในการตรวจสอบบัญชี โดยจัดทำเป็นคลังข้อมูลสำหรับการค้นคว้าและอ้างอิงและการเผยแพร่ความรู้ภายในองค์กร
2. การสอบถามฝ่ายบริหารของกิจการที่ตรวจสอบว่ามีข้อกฎหมายหรือบังคับอะไรบ้างที่สำคัญในการประกอบธรุกิจ และวิธีการที่กิจการจะปฏิบัติตามกรอบของกฎหมายและข้อบังคับ
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกฎหมายบางประเภทที่สำคัญ ๆ รวมทั้งตัวอย่างของเหตุการณ์เกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือข้อบังคับที่ก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อการกำหนดจำนวนเงินต่าง ๆ และผลกระทบทางอ้อมต่อจำนวนเงินต่าง ๆ ในการจัดทำงบการเงิน
ผลกระทบโดยตรง
ตัวอย่าง กฎหมายหรือข้อบังคับ |
ตัวอย่าง ข้อกำหนดของกฎหมายหรือข้อบังคับ |
ตัวอย่าง ผลกระทบโดยตรงต่อการกำหนดจำนวนเงินต่าง ๆ ในการจัดทำงบการเงิน |
ประมวลรัษฎากร | ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นต้น | จำนวนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือภาษีมูลค่าเพิ่มตามหลักเกณฑ์แห่งประมวลรัษฎากร |
พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต | ภาษีสรรพสามิต | จำนวนเงินภาษีสรรพสามิตตามปริมาณหรือมูลค่าสินค้าเพื่อเสียภาษี |
พระราชบัญญัติศุลกากร | ค่าภาษีอากรที่เรียกเก็บจากผู้นำเข้าหรือส่งออก | จำนวนเงินค่าภาษีอากรจากการนำของเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร |
ผลกระทบทางอ้อม
ตัวอย่าง กฎหมายหรือข้อบังคับ |
ตัวอย่าง ข้อกำหนดของกฎหมายหรือข้อบังคับ |
ตัวอย่าง เหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อจำนวนเงินต่าง ๆ ในการจัดทำงบการเงิน |
กฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) | การทำรายการกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน | การไม่แจ้งหรือเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทำรายการกับบุคคลที่เกี่ยวโยงกัน การทำรายการกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกันที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ถือหุ้นรายย่อย เป็นต้น |
พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค | การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านสัญญา | การใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบผู้ประกอบธุรกิจเกินสมควร |
พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน | การใช้แรงงาน | มีการจ้างงานที่ไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน เช่น เกี่ยวกับแรงงานเด็ก หรือ แรงงานต่างด้าว เป็นต้น |
พระราชบัญญัติโรงงาน | กำหนดมาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยของเสีย | มีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่ออกเกี่ยวกับกำหนดมาตรฐานและวิธีการควบคุมการปล่อยของเสีย |
อย่างไรก็ตาม หากมีการปฏิบัติไม่เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมายหรือข้อบังคับดังกล่าวข้างต้น ก็อาจส่งผลกระทบทางอ้อมต่อจำนวนเงินต่าง ๆ ด้วย เช่น ค่าปรับ การถูกฟ้องร้อง หรือเกิดผลกระทบอื่น ๆ ที่เป็นสาระสำคัญต่องบการเงิน นอกจากนี้ผู้สอบบัญชีต้องหารือกับผู้บริหารและกับผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลเพื่อให้ได้รับหลักฐานสนับสนุน หรือการขอคำแนะนำทางกฎหมาย หรืออาจรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความเพียงพอของหลักฐานข้อมูลที่ผู้สอบบัญชีได้รับและผลกระทบต่องบการเงิน
ถึงแม้ว่าเรื่องกฎหมายหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจจะมีจำนวนมาก รวมทั้งขั้นตอนการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชีในการตรวจสอบตามมาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 250 ก็มีรายละเอียดที่จะต้องพิจารณามาก แต่ก็คงไม่ใช่เรื่องที่ยากจนเกินไปที่ผู้สอบบัญชีจะปฏิบัติงานให้บรรลุผลตามข้อกำหนดของมาตรฐานดังกล่าว
หมายเหตุ
ข้อมูลอ้างอิง: มาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 250 (ปรับปรุง) “การพิจารณากฎหมายและขัอบังคับในการตรวจสอบงบการเงิน”
ผู้เขียน : คุณธนะวุฒิ พิบูลย์สวัสดิ์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด