จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ในปัจจุบัน ผู้ประกอบการควรต้องใช้ความระมัดระวังในการจัดทำงบการเงินอย่างถูกต้องตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน และการเปิดเผยหมายเหตุประกอบงบการเงินอย่างครบถ้วน
สำหรับ 6 ประเด็นที่ควรพิจารณาในการจัดทำงบการเงิน ได้แก่
ลูกหนี้ขาดสภาพคล่อง
จากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่หลายๆ กิจการหยุดชะงักหยุดการดำเนินงาน ส่งผลให้ขาดรายได้ ลูกหนี้อาจขาดสภาพคล่องทำให้จ่ายชำระหนี้ล่าช้า หรือไม่มีความสามารถในการจ่ายชำระหนี้
ดังนั้นผู้ประกอบการควรประเมินสถานะลูกหนี้ที่ค้างเกินเครดิตเทอมแต่ละราย เพื่อประกอบการพิจารณาการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญของกลุ่มลูกหนี้ดังกล่าว
สินค้าขายไม่ได้
สินค้าที่ผู้ประกอบการสต็อกคงเหลือไว้ อาจขายไม่ได้หรืออาจต้องลดราคาลงเพื่อให้ขายได้ ทำให้มูลค่าสุทธิที่จะได้รับจากขายสินค้า (ราคาขายสุทธิหักค่าใช้จ่ายในการขายแล้ว) อาจต่ำกว่าราคาทุนของสินค้า
ดังนั้น ณ วันสิ้นงวด ผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบมูลค่าสุทธิที่จะได้รับจากการขายสินค้าหลังวันสิ้นงวดกับราคาทุนสินค้าที่คงเหลืออยู่ในงบการเงินว่า มูลค่าสุทธิที่จะได้รับจากการขายสินค้ายังสูงกว่าราคาทุนหรือไม่ ถ้าไม่ก็ให้พิจารณาตั้งค่าเผื่อการลดลงของมูลค่าสินค้า
การส่งมอบงานไม่เป็นไปตามสัญญา
ผู้ประกอบการที่มีสัญญากำหนดการส่งมอบงาน ไม่ว่าจะเป็นการส่งมอบงานเป็นรายงวดหรือส่งมอบงานเมื่องานเสร็จ เช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจให้บริการอื่นๆ ต้องระมัดระวังว่าหลังวันสิ้นงวดสามารถส่งงานได้ตามที่กำหนดในสัญญาที่ได้ทำผูกพันไว้หรือไม่ เพราะสัญญาโดยส่วนใหญ่จะคิดเบี้ยปรับกรณีที่ส่งงานไม่เป็นไปตามที่กำหนด
ดังนั้นผู้ประกอบการควรประเมินสัญญาผูกพันที่มีอยู่ว่า สามารถส่งงานได้ตามกำหนดหรือไม่ และหาวิธีการจัดการ เช่น ทำหนังสือขอขยายระยะเวลาจากคู่ค้าสัญญา เป็นต้น กรณีหลีกเลี่ยงไม่ได้และคาดว่าอาจถูกเรียกค่าเบี้ยปรับจากคู่สัญญา ให้ผู้ประกอบการประมาณการหนี้สินหรือเปิดเผยข้อมูลในงบการเงินให้ครบถ้วน
ผิดนัดชำระหนี้
ผู้ประกอบการจำนวนมากได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจจากรายได้ที่ลดลง ทำให้มีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้ที่ต้องจ่ายตามจังหวะเวลา ได้แก่ เงินกู้ยืมระยะสั้นหรือเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน หุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระในระยะเวลาอันใกล้ หนี้ที่ต้องจ่ายตามกำหนดสัญญา หรือค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายตามเครดิตเทอมให้แก่เจ้าหนี้ รวมถึงการจ่ายค่าใช้จ่ายประจำเดือน
ผู้ประกอบการควรจัดทำประมาณการกระแสเงินสดรับและจ่ายในอนาคตเพื่อประเมินความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ กรณีที่คาดว่าจะผิดนัดควรเจรจาต่อรองเพื่อขอขยายระยะเวลาจ่ายชำระ หาแหล่งเงินกู้อื่น หรือจัดการบริหารทรัพย์สินอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้การจัดประเภทรายการถูกต้องตามมาตรฐานรายงานทางการเงิน หรือนำข้อมูลมาเปิดเผยหมายเหตุอย่างครบถ้วน
การดำเนินงานต่อเนื่อง
จากภาวะการณ์ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจหลายๆ ด้านทั้งในประเทศและต่างประเทศ และไม่รู้ว่าสถานการณ์เช่นนี้จะใช้ระยะเวลาอีกนานแค่ไหน ทำให้ผู้ประกอบการ จำนวนไม่น้อยชะลอการลงทุนและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น หรือแม้กระทั่งหยุดดำเนินงาน ซึ่งอาจทำให้กระทบต่อการดำเนินงานและกระแสเงินสดของบริษัท
ดังนั้นผู้ประกอบการต้องประเมินว่า หลังวันสิ้นงวดกิจการยังอยู่ภายใต้การดำเนินงานต่อเนื่อง ด้วยข้อสมมติที่ว่าบริษัทจะดำรงอยู่และจะดำเนินงานต่อเนื่องต่อไปในอนาคตที่สามารถคาดการณ์ได้หรือไม่ หรือมีแผนที่จะเลิกกิจการ ถ้าผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าจะมีความไม่แน่นอนหรือมีข้อสังสัยอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับความสามารถของกิจการ ทำให้ต้องเปิดเผยในหมายเหตุประกอบงบการเงินให้ครบถ้วน
เหตุการณ์ภายหลังรอบระยะเวลารายงาน
ผู้ประกอบการต้องประเมินเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลังวันสิ้นงวดแต่ก่อนที่จะออกงบการเงินว่า เรื่องใดที่มีผลกระทบต่อการรับรู้รายการที่มีอยู่ ณ วันที่ในงบการเงิน หรือเปิดเผยข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงินก็เพียงพอแล้ว
แม้จะเป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากสำหรับทุกคน แต่เชื่อว่าจะคลี่คลายได้ในที่สุด ทุกท่านดูแลรักษาสุขภาพตัวเองให้ดี ห่างไกลจากโควิด-19 “ทิ้งระยะห่างทางสังคม เพื่อตัวคุณและคนที่คุณรัก”
ผู้เขียน : นางสาวโชติมา กิจศิรกร กรรมการบริหาร บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด