178 Dharmniti Building 6-7th Floor, Soi Permsap (Prachachuen 20), Prachachuen Road, Bangsue, Bangkok, 10800 Thailand

Audit News

สรุปมาตรการทางภาษีที่สำคัญในปี 2563 ที่ทางภาครัฐได้ออกมาท่ามกลางการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโรคโควิค 19

Written by

วันนี้ผมและทีมงานจะขอมาสรุปมาตรการทางภาษีที่สำคัญในปี 2563 ที่ทางภาครัฐได้ออกมาท่ามกลางการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโรคโควิค 19 โดยจะสรุปเป็นรายมาตรา ดังต่อไปนี้ครับ 

 

1. พระราชบัญญัติ ฉบับที่ 47 เรื่องการถ่ายโอนกำไรระหว่างกัน  ลงวันที่  18 พฤศจิกายน 2561 

บริษัทที่ดำเนินธุรกิจที่ทำให้กรรมสรรพากรเชื่อได้ว่ามีการถ่ายโอนกำไรระหว่างกัน เจ้าหน้าที่สรรพากรมีสิทธิเรียกเอกสารมาเพื่อปรับปรุงบัญชีให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่สรรพากรกำหนด โดยบริษัทดังกล่าวจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

1. บริษัทหนึ่งถือหุ้นในอีกบริษัทหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 

2. ผู้ถือหุ้นไปเป็นหุ้นส่วนในอีกบริษัทหนึ่ง โดยการถือหุ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และถือหุ้นในอีกบริษัทหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และมีการทำรายการระหว่างกัน ซึ่งถูกควบคุมโดยผู้ถือหุ้นเดียวกัน

3. บริษัทที่มีความสัมพันธ์ระหว่างกันด้านทุน การจัดการ ซึ่งมีผลทำให้อีกบริษัทหนึ่งไม่อาจดำเนินการโดยอิสระจากบริษัทหนึ่งได้

4. บริษัทที่มีรายได้รวมไม่น้อยกว่า 200 ล้านบาท ทั้งบริษัทใหญ่และบริษัทย่อยต้องจัดทำแบบฟอร์ม (Disclosure form) เข้าไปที่ระบบกรมสรรพากรภายใน 150 วันนับแต่วันปิดรอบระยะเวลาบัญชี

5. กรณีไม่ยื่นแบบฟอร์ม (Disclosure form) ให้ทันภายใน 150 วัน จะมีค่าปรับบริษัทละ 200,000 บาท

6. ใช้บังคับสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ 1 มค. 62 เป็นต้นไป

7. สรรพากรได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 62 เกี่ยวกับแบบฟอร์มที่จะต้องกรอกเกี่ยวกับรายการระหว่างกัน (Disclosure form) ตาม web site ของกรมสรรพากร

8. สรรพากรมีการประกาศขยายระยะเวลาการยื่นแบบฟอร์ม (Disclosure form) ไปจนถึง 31 ส.ค. 63 พร้อมกับการนำส่งงบการเงิน

 

2. พระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 690 รายจ่ายเพื่อการลงทุนในทรัพย์สิน ลงวันที่  18 มกราคม 63 

- เป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องแต่ไม่รวมถึงการซ่อมแซม และไม่รวมถึงยานพาหนะ

- ยกเว้นค่าใช้จ่ายเพิ่มได้อีกร้อยละ 50 ของค่าใช้จ่ายที่ได้ทำการจ่ายไป

- รายจ่ายต้องจ่ายไประหว่างวันที่ 1 ก.ย. 62 ถึง วันที่ 31 พ.ค. 63 

- รายจ่ายที่ใช้สิทธิได้เพิ่มร้อยละ 50 ต้องนำมาเฉลี่ย 5 รอบระยะเวลาบัญชี

- เครื่องจักรนั้นต้องไม่ผ่านการใช้งานมาก่อน

- เครื่องจักรนั้นต้องอยู่ในราชอาณาจักร แม้ไม่ได้ทำการซื้อในประเทศไทย

- ไม่เป็นเครื่องจักรที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีตามมาตราอื่น

- จัดทำโครงการลงทุนและแผนการลงทุนทาง website ของกรมสรรพากร 

- รายจ่ายนั้นต้องจ่ายไปภายในวันที่ 31 พ.ค. 63 ต่อมาทางกรมสรรพากรได้ออกประกาศขยายระยะเวลาเป็นวันที่ 31 ส.ค. 63

 

3. พระราชกฤษฎีกา ฉบับที่ 692 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 63 

เป็นรายจ่ายเพื่อส่งเสริมดำเนินกิจการของบริษัท โดยต้องได้รับการรับรองจากสภาอุตสาหกรรมหรือสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดังนี้

3.1 เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อส่งเสริมดำเนินกิจการของบริษัท และค่าธรรมเนียมค้ำประกันสินเชื่อกับ บสย. ให้กับ บริษัทที่มีสินทรัพย์ ไม่เกิน 200 ล้านบาท และมีแรงงานไม่เกิน 200 คน

3.2 บริษัทที่จะใช้สิทธิ ต้องมีสินทรัพย์ เกิน 200 ล้าน แรงงานเกิน 200 คน

3.3 บริษัทที่จ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อส่งเสริมดำเนินกิจการต้องไม่มีความเกี่ยวข้องกันกับบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม 

3.4 ใช้สิทธิเป็นค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า แต่ต้องนำไปรวมกับรายจ่ายค่าบริจาคการศึกษาและการกีฬาและใช้สิทธิรวมกันไม่เกิน 2 เท่า

3.5 ใช้สิทธิตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 62 ถึง วันที่ 31 ธ.ค. 63

 

4. กฎกระทรวง ฉบับที่ 361 ลงวันที่  27 มีนาคม 63 

ประกาศฉบับนี้กระทรวงการคลังประกาศปรับลดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย เฉพาะกลุ่มรายได้ที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย 3 % เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโรคโควิด 19 เป็น 2 ระยะ ดังนี้

4.1 ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 1.5% ระหว่างวันที่ 1 เม.ย. 63 ถึง 30 ก.ย. 63 ดังต่อไปนี้

ประเภทรายได้ บุคคลธรรมดา บริษัท/หจก.
มาตรา 40 (2)  ไม่เปลี่ยนแปลง 1.5%
มาตรา 40 (3)  เฉพาะค่าสิทธิ์ ไม่เปลี่ยนแปลง 1.5%
มาตรา 40 (6)  1.5% 1.5%
มาตรา 40 (7) 1.5% 1.5%
มาตรา 40 (8) ในส่วนจ้างทำของ รางวัล ส่วนลด และส่งเสริมการขาย 1.5% 1.5%


4.2 ลดภาษีหัก ณ ที่จ่าย จาก 3% เหลือ 2.0 % ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 63 ถึง 31 ธ.ค. 64 ดังต่อไปนี้

 

ประเภทรายได้ บุคคลธรรมดา บริษัท/หจก.
มาตรา 40 (2)  ไม่เปลี่ยนแปลง 2.0%
มาตรา 40 (3) เฉพาะค่าสิทธิ์ ไม่เปลี่ยนแปลง 2.0%
มาตรา 40 (6)  2.0% 2.0%
มาตรา 40 (7) 2.0% 2.0%
มาตรา 40 (8) ในส่วนจ้างทำของ รางวัล ส่วนลด และส่งเสริมการขาย 2.0% 2.0%


5. มาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบจากไวรัสโคโรนา หรือโควิด 19 ต่อเศรษฐกิจไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2563 ที่สำคัญมีดังนี้

กรณีบุคคลธรรมดา 

- ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จากค่าเสี่ยงภัยทางการแพทย์ เงินสนับสนุนจากภาครัฐต่างๆ

- เพิ่มวงเงินหักลดหย่อนค่าเบี้ยประกันสุขภาพ จาก 15,000 บาท เป็น 25,000 บาท 

- เลื่อนเวลาการยื่นแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นวันที่ 31 ส.ค. 63 และสามารถผ่อนชำระภาษีได้ภายในระยะเวลา 3 เดือน  

กรณีนิติบุคคล 

- เลื่อนเวลายื่นแบบชำระภาษีประจำปี 62 เป็นวันที่ 31 ส.ค. 63 และการยื่นแบบครึ่งปี 63 เป็นวันที่ 30 ก.ย. 63

- เลื่อนการนำยื่น ภาษีถูกหัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นภายในทุกวันที่สิ้นเดือน จนถึงวันที่ 31 ส.ค. 2563 

- มาตรการทางภาษีอากรในการสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ของเจ้าหนี้ที่มิใช่สถาบันการเงินและลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนและการจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดสำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จากร้อยละ 2 คงเหลือ ร้อยละ 0.01

   

มาตรการทางภาษีที่ได้มีการกล่าวมาข้างต้นส่วนใหญ่ออกมาเพื่อช่วยเหลือบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ในช่วงวิกฤตโรคติดเชื้อโควิด 19 ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ โดยคาดว่าระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ทางภาครัฐคงมีมาตรการทางภาษีออกมาอีกหลายฉบับเพื่อช่วยเหลือบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ซึ่งทางผมและทีมงานจะมีการมาแจ้งข่าวให้เป็นระยะ ๆ นะครับ 

 

ผู้เขียน : คุณสุวัฒน์ มณีกนกสกุล กรรมการบริหาร บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด

 

About Us

Dharmniti Auditing Co.,Ltd. is a professional service company that specializes in auditing and assurance service.

Privacy Notice

etax