การยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (แบบ ภ.ง.ด 51)
ผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล มีหน้าที่ในการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้
นิติบุคคลสำหรับครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี (6 เดือน) ต้องยื่นภายใน 2 เดือน นับตั้งแต่วันสุดท้ายของครึ่งรอบระยะเวลาบัญชี ด้วยแบบ ภ.ง.ด 51 ดังเช่น
สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ที่มีรอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ดังนี้
1. กรณี ยื่น ภ.ง.ด.51 แบบกระดาษ : วันสุดท้ายของการยื่นแบบ ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2564
2. กรณี ยื่น ภ.ง.ด.51 ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต ขยายเพิ่ม 8 วัน : วันสุดท้ายของการยื่นแบบ ภายในวันที่ 8 กันยายน 2564
ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (แบบ ภ.ง.ด 51)
1. บริษัทจดทะเบียนตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่อธิบดีเห็นชอบตามหลักเกณฑ์เสียภาษีเงินได้ครึ่งปีจากกำไรสุทธิจริง (งบการเงินของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลต้องผ่านการแสดงความเห็นจากผู้สอบบัญชี)
2. บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนอกเหนือจากข้อ 1 ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปีจากการประมาณการกำไรสุทธิ คือ จากการประมาณการผลประกอบการของกิจการในรอบปีบัญชีนั้น ๆ ทั้งปี
ผู้ประกอบการที่ไม่ต้องยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี (แบบ ภ.ง.ด 51)
1. มูลนิธิหรือสมาคม เนื่องจากเสียภาษีเงินได้จากยอดรายรับ จึงไม่ต้องประมาณการกำไรหรือขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้
2. ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีรอบระยะเวลาบัญชีปีแรก/ปีสุดท้ายน้อยกว่า 12 เดือน หรือรอบที่เปลี่ยนแปลงไม่เกิน 6 (ในกรณีนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมสรรพากร)
บทกำหนดโทษ
1. กรณียื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เกินกำหนดเวลา
1.1 ค่าปรับทางอาญาตามมาตรา 35 แห่งประมวลรัษฎากร ในการยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ล่าช้าไม่เกิน 2,000 บาท ดังนี้
- ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ภายใน 7 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นรายการ เสียค่าปรับ 1,000 บาท
- ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ภายหลัง 7 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นรายการ เสียค่าปรับ 2,000 บาท
1.2 เงินเพิ่มตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร อีกร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ ตามแบบ ภ.ง.ด 51
หากบริษัทได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการ โดยไม่ได้รับคำเตือนหรือคำเรียกตรวจสอบไต่สวน โดยตรงเป็นหนังสือ ให้ลดเงินเพิ่มได้ แต่ต้องเสียในอัตราและตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
- ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ไม่เกิน 2 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นรายการ ให้เสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 0.1 ของเงินภาษีที่ต้องชำระ
- ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 เกิน 2 วัน แต่ไม่เกิน 7 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นรายการ ให้เสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 0.5 ของเงินภาษีที่ต้องชำระ
- ยื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ภายหลัง 7 วัน นับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นรายการ ให้เสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ จนกว่าเงินเพิ่มจะมีจำนวนครบร้อยละ 20 ของเงินภาษี
1.3 กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในกำหนดอาจถือได้ว่าไม่ให้ความร่วมมือแก่ทางราชการ
ซึ่งอาจไม่ได้รับการพิจารณาลดหรืองดเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่มกรณีอื่น
2. กรณียื่นแบบ ภ.ง.ด.51 ด้วยประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิจริงทั้งปีที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด 50 ตอนปลายปี
โดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้เสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระ จนกว่าเงินเพิ่มจะมีจำนวนครบร้อยละ 20 ของเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลที่คลาดเคลื่อนไปนั้น
วิธีการคำนวณประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกิน 25 % ของกำไรสุทธิ
กำไรสุทธิจริง 1,000,000 บาท ประมาณการกำไรสุทธิ 700,000 บาท พบว่าประมาณการกำไรสุทธิขาดไป 300,000 บาท
ประมาณการกำไรสุทธิขาดไป = 300,000*100/1,000,000 = 30 %
กิจการประมาณการกำไรสุทธิขาดไปเกินกว่าร้อยละ 25 โดยไม่มีเหตุอันสมควร กิจการจะเสียภาษี ดังนี้
- กรณีที่กิจการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 เพิ่มเติม โดยที่ไม่ได้รับคำเตือนจากเจ้าหน้าที่ กิจการจะเลือกเสียเงินเพิ่มทางภาษีจากอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือ ร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระก็ได้
จากกรณีดังกล่าวข้างต้น หากกิจการนำยื่นแบบ ภ.ง.ด 51 เพิ่มเติมในเดือน ธันวาคม กิจการจะเสียเงินเพิ่ม ดังนี้
ภาษีที่ชำระขาดในปี = 150,000 X 20 % = 30,000 บาท
เสียเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน = 30,000 X 1.5 % X 6 = 2,700 บาท
เสียเงินเพิ่มอัตราร้อยละ 20 ต่อเดือน = 30,000 X 20 % = 6,000 บาท
ฉะนั้นกิจการควรเลือกเสียเงินเพิ่มจากอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องจ่ายชำระ คือ 2,700 บาท
- กรณีที่กิจการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 51 เพิ่มเติม โดยได้รับคำเตือนจากเจ้าหน้าที่ กิจการจะต้องเสียเงินเพิ่มร้อยละ 20 ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระเท่านั้น
จากบทความดังกล่างข้างต้น หวังว่าบริษัทและนิติบุคคลต่างๆ จะยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลครึ่งปี แบบ ภ.ง.ด 51 โดยถูกต้องครบถ้วนเป็นไปตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และข้อบังคับของกรมสรรพากร
ผู้เขียน : นันทนภัส วรรณสมบูรณ์ บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด