178 Dharmniti Building 6-7th Floor, Soi Permsap (Prachachuen 20), Prachachuen Road, Bangsue, Bangkok, 10800 Thailand

Audit News

เทรนด์เทคโนโลยีในปี 2021 ที่ควรรู้

Written by

ตั้งแต่ปี 2019 มาจนถึงกลางปี 2021 เห็นได้ว่าสถานการณ์ระบาดของไวรัส COVID-19 ยังคงไม่หายไปไหน และยังไม่ทราบว่าการระบาดนี้หมดไปเมื่อใด ซึ่งเทคโนโลยีก็จะต้องมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อรองรับต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์เทคโนโลยีนั้น จะส่งผลในเรื่องของการเปลี่ยนธุรกิจให้มีความทันสมัยและอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น ผู้เขียนจึงได้คัดเลือกเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงและน่าสนใจในยุคนี้มาให้ทราบกัน

 

เทคโนโลยีที่ 1 | Fintech 

 

มาจาก Financial & Technology ที่นำเอาการเงิน(Financial) มาผสานเข้ากับเทคโนโลยี (Technology) เพื่อสร้างเป็นนวัตกรรมใหม่ให้การบริการทางการเงินมีข้อได้เปรียบ บริการที่ดีกว่า สะดวกกว่า และรวดเร็วแก่ผู้ใช้หรือผู้บริโภค โดยเทรนด์นี้ยิ่งกลับมามีความจำเป็นมากขึ้นหลังจากเกิดการระบาดของไวรัสโควิดระลอกใหม่ ที่ทุกคนต้องมาใช้ชีวิตแบบ New Normal และ Social Distancing การเว้นระยะห่างทางสังคม กันอย่างเคร่งครัดมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต้องการที่จะจ่าย โอน หรือทำธุรกรรมต่าง ๆบนระบบออนไลน์ (Internet Banking) ผ่านมือถือ เพื่อลดโอกาสติดเชื้อโควิด และการซื้อของออนไลน์ก็เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการซื้อของออนไลน์ในปัจจุบัน ไม่ได้มีแค่การจ่ายเงินผ่านการโอนเงินจากธนาคารเท่านั้น ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ ก็มีช่องทางการชำระเงินที่หลากหลายมากขึ้น 

และสิ่งที่กำลังมาแรงคือ Bitcoin เป็นสกุลเงินดิจิทัลตัวแรกของ Cryptocurrency และได้รับความนิยมมากกว่าสกุลเงินอื่น ๆ ที่อยู่บนระบบ Blockchain ซึ่งจะต้องมีการเข้ารหัสลับเพื่อทำธุรกรรม ที่มีความปลอดภัยสูง โปร่งใส โดยไม่มีการผ่านคนกลางอย่างหน่วยงาน สถาบัน หรือธนาคารแต่อย่างใด ถึงแม้ว่า Bitcoin จะจับต้องไม่ได้ แต่สามารถนำไปใช้แลกเปลี่ยนซื้อ-ขายสินค้ากันได้จริง ๆ ในโลกออนไลน์ 

 

 

เทคโนโลยีที่ 2 | 5G & Internet of Things

 

5G คือคลื่นสัญญาณใหม่ที่จะเพิ่มความเร็วในการรับส่งข้อมูล และทำให้อุปกรณ์ทุกชนิดสามารถเชื่อมกันโดยผ่านอินเทอร์เน็ตได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น นำมาใช้สนับสนุนการทำงานของ Internet of Things (IoT) รองรับการใช้ชีวิตดูล้ำมากขึ้นทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงาน 

5G ต่างจากเครือข่ายแบบ 4G ที่ใช้งานอยู่ทุกวันนี้ โดยหลักๆก็คือ 5G สามารถตอบสนองรวดเร็วกว่า 4G ถึง 24 เท่า และความหน่วงลดลง 10 เท่า จะทำให้เครือข่ายไร้สายนี้สามารถรับมือกับการไหลของข้อมูลที่มาจากอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อเข้าสู่ระบบออนไลน์และรองรับการใช้งานแบบเรียลไทม์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงมีความสามารถในการรองรับอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้มากถึง 200,000-1,000,000 เครื่อง ต่อตร.กม. ซึ่งมากกว่า 4G ถึง 1,000 เท่า จึงเหมาะกับการเชื่อมต่อทั้งคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน เซนเซอร์ และนำไปใช้ในระบบบ้านอัจฉริยะ หรืออุปกรณ์ IoT ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น หลอดไฟที่เปิด-ปิดอัตโนมัติ เครื่องปรับอากาศ และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่ควบคุม/สั่งการผ่านเสียง หรือผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งทั้งหมดนี้หากได้ 5G เข้ามาเสริม ก็จะช่วยให้อุปกรณ์เหล่านี้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเสถียรยิ่งขึ้น โดยผู้ให้บริการเครือข่ายในไทยได้มีการให้บริการ 5G อย่างเป็นทางการแล้วในบางพื้นที่

 

 

เทคโนโลยีที่ 3 | The As-A-Service Revolution

 

            As-a-service (aaS) คือการให้บริการด้าน Platform ที่ทำงานบนระบบ Cloud เป็นสิ่งที่ช่วยให้สามารถเข้าถึงโปรแกรมหรือเทคโนโลยีต่าง ๆได้ทุกที่ทุกเวลาเพียงแค่มีอินเตอร์เน็ตโดย aaS ได้รับความนิยมจากองค์กรต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับระบบการทำงานมากขึ้น อีกทั้งยังมีส่วนช่วยในการประหยัดค่าใช้จ่ายอีกด้วย 

ก่อนหน้านี้ถ้าเราจะใช้ Software สำเร็จรูปต่าง ๆ จะต้องจ่ายเงิน เพื่อติดตั้ง Software นั้นลงบนเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งบาง Software มีราคาแพงเพราะมีค่า License โดยเฉพาะในระดับธุรกิจ แต่ในปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนการให้บริการจากเดิมที่เป็นผลิตภัณฑ์ สู่การให้บริการผ่านระบบ Cloud คือการนำ aaS ในรูปแบบ Software-as-a-Service (SaaS) การให้บริการด้าน Software และ Application ผ่านระบบอินเตอร์เน็ตมาช่วยแก้ปัญหานี้ โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องติดตั้ง Software เหล่านั้นบนเครื่องอีกต่อไป เราสามารถใช้มันผ่านเว็บไซต์ได้เลย คล้ายกับการเช่าใช้ คิดค่าบริการตามลักษณะการใช้งาน ทำให้ไม่ต้องลงทุนซื้อ Server ตัวราคาเป็นล้านตามมาด้วยค่าบำรุงรักษาอีกมาก โดย aaS มีรูปแบบการให้บริการที่นิยมอีก 2 แบบ เช่น Infrastructure as a service (IaaS) การให้บริการ Infrastructure และระบบการจัดเก็บข้อมูลขององค์กร (Storage) และ Platform as a service (PaaS) การให้บริการด้าน Platform สำหรับ Development และรูปแบบอื่น ๆ ที่อาจมีการพัฒนาเพิ่มเติมในอนาคต

 

 

เทคโนโลยีที่ 4 | Privacy-Enhancing Computation 

 

มาตรการรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งอย่างที่ทราบกันดีว่า ในทุกวันนี้มีแฮกเกอร์(Hacker) หรือผู้ไม่หวังดีอยู่มากมาย ต่างจู่โจมสร้างความปั่นป่วนให้กับข้อมูลสำคัญขององค์กรต่าง ๆ ด้วยการใช้ซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ หรือ Ransomware โดยล่าสุดมีข่าวว่า มีกลุ่มแฮกเกอร์ประกาศเรียกเงินค่าไถ่ สำหรับปลดล็อคให้กับทุกองค์กรที่โดนโจมตีเป็นเงิน 70 ล้านดอลลาร์ พร้อมเงื่อนไขขอเป็นเงินบิตคอยน์ จากเหตุการณ์นี้นับเป็นความเสียหายที่มีมูลค่าสูงมาก 

ซึ่งการปล่อยให้ธุรกิจมีความเสี่ยง จนต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนั้น ย่อมส่งผลเสียทั้งด้านความน่าเชื่อถือของธุรกิจ ความปลอดภัย และค่าใช้จ่ายขององค์กร จึงต้องมีมาตรการ Privacy-Enhancing Computation หรือมาตรการเกี่ยวกับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลที่จะเข้ามาควบคุมและปกป้องข้อมูลขณะใช้งานไม่ว่าจะบนแพลตฟอร์ม เว็บไซต์ และระบบภายในขององค์กร นอกเหนือจากมาตรการควบคุมทั่วไปที่เน้นการปกป้องข้อมูลที่จัดเก็บไว้ เทรนด์นี้ถึงแม้จะไม่เกี่ยวกับเทคโนโลยีโดยตรง แต่ถือว่าเป็นคำเตือนให้หลายองค์กรหันมาสนใจในเรื่อง เทคโนโลยีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูลในองค์กรกันมากขึ้น โดยเทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการคุ้มครองปกป้องข้อมูล จะต้องประกอบไปด้วย 

1. การเก็บข้อมูลในสภาพแวดล้อมที่น่าเชื่อถือ

2. การกระจายการจัดเก็บและบริหารจัดการข้อมูล 

3. การเข้ารหัสหลายชั้น

 

เทคโนโลยีที่ 5 | เทคโนโลยีช่วย Digital dementia 

 

Digital dementia หรือภาวะสมองเสื่อมจากดิจิทัล เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้บริการดิจิทัลต่าง ๆมากยิ่งขึ้นกับอุปกรณ์ที่หลากหลาย จำนวนบัญชีที่เพิ่มขึ้น ไฟล์งานที่มากขึ้น และมาตรการความปลอดภัยที่ต้องมากขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้ผู้คนจะเผชิญกับภาวะ Digital Dementia หรือสมองเสื่อมจากการใช้บริการดิจิทัลที่มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “Password” ที่ปัจจุบันผู้ให้บริการต่างกำหนดให้ Password ต้องมีความซับซ้อนมากขึ้น ประสมตัวเลข ตัวอักษรและเครื่องหมาย แถมยังต้องเปลี่ยนใหม่ทุก 3 เดือน เพื่อความปลอดภัย 

ปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ เริ่มมีการนำโซลูชั่นที่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งาน ใช้งานได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น แต่ยังคงระดับความปลอดภัยเช่นเดิม ไม่ว่าจะเป็นโซลูชั่นที่ใช้สำหรับการจัดการรหัสผ่าน (Password manager) หรือการใช้อัตลักษณ์ของบุคคล (Biometric) ในการยืนยันตัวตน เช่น การแสกนลายนิ้วมือ แทนการจำตัวเลขรหัสผ่าน การสแกนใบหน้าหรือสแกนม่านตา แทนการสัมผัส เพื่อลดโอกาสการติดเชื้อโควิด และเชื้อโรคอื่น ๆ ที่อาจจะมีในอนาคต ซึ่งโซลูชั่นต่าง ๆ จะได้รับการใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น เพื่อให้ตอบโจทย์ทั้งในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการใช้งานดิจิทัล

 

 

ทั้ง 5 เทรนด์เทคโนโลยีมาแรงในปี 2021 ที่กล่าวมานี้ เห็นได้ว่า มีผลต่อธุรกิจ และวิถีชีวิตของผู้คนที่ต้องพบเจอกับสถานการณ์ในปัจจุบันได้อย่างดี ฉะนั้นลองหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น และสามารถนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งต่อธุรกิจและการใช้ชีวิตประจำวันในยุคนี้ 

 

 

ผู้เขียน : ชฎาพา สุขสมัย  บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด 

Transparency Report

Read our 2024 Transparency Report

transparency