178 Dharmniti Building 6-7th Floor, Soi Permsap (Prachachuen 20), Prachachuen Road, Bangsue, Bangkok, 10800 Thailand

Audit News

การวางแผนภาษีโดยการลงทุน RMF และ SSF ปี 2564

Written by

การวางแผนภาษีโดยการลงทุน เป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจ ทั้งพนักงานบริษัทเอกชน ผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือแม้กระทั่งข้าราชการ เพราะประโยชน์ที่ได้รับมีทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นช่วยประหยัดภาษีในปีภาษีที่มีการลงทุน และในระยะยาวถือเป็นเงินออมเพื่อการลงทุนในอนาคตและไว้ใช้ในยามเกษียณอายุ 

สำหรับการลงทุนที่เข้าถึงได้ง่ายและช่วยลดหย่อนภาษี ได้แก่ จากการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) 

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ RMF หรือ Retirement Mutual Fund เป็นกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมเงินระยะยาวสำหรับใช้ในยามเกษียณอายุ ซึ่งจะคล้ายกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund) ของเอกชน และกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ของข้าราชการ โดยที่กองทุน RMF มีลักษณะคล้ายกับ กองทุน SSF ที่สามารถเลือกลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

กองทุนรวมเพื่อการออม SSF หรือ Super Saving Funds เป็นกองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว ซึ่งเป็นกองทุนรวมที่สามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีได้แทนกองทุน LTF หรือ Long Term Fund ซึ่งเป็นกองทุนรวมหุ้นระยะยาวที่หมดอายุไปเมื่อสิ้นปี 2562 โดยกองทุน SSF มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการออมเงินระยะยาวและพัฒนาปรับปรุงนโยบายการลงทุน โดยกองทุน SSF เป็นกองทุนที่สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็น หุ้น ตราสารหนี้ กองทุนรวมผสม ทั้งในประเทศและต่างประเทศ 

กองทุน SSF สามารถรับสิทธิประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีได้เพียง 5 ปี คือตั้งแต่ปี 2563 - 2567 หลังจากนั้นกระทรวงการคลังจะมีการพิจารณาอีกครั้ง


กองทุนรวมทั้ง RMF และ SSF ดังที่กล่าวข้างต้นมีหลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์ที่สำคัญดังนี้ 

หลักเกณฑ์และสิทธิประโยชน์ กองทุนรวม RMF กองทุนรวม SSF

เงื่อนไขการลดหย่อนภาษี

1. ผู้ลงทุนต้องซื้อต่อเนื่องอย่างน้อยปีเว้นปี จะซื้อกองเดิมเหมือนปีก่อน หรือซื้อต่างกองก็ได้ และไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ

2. ผู้ลงทุนต้องถือกองทุนไม่ต่ำกว่า 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ซื้อครั้งแรก และขายได้ตอนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ หรือเสียชีวิต หรือทุพพลภาพก่อน สำหรับการนับระยะเวลา 5 ปี เป็นการนับระยะเวลาแบบวันชนวัน ปีชนปี เช่น ถ้าซื้อ RMF วันที่ 1 มี.ค. 2564 วันที่ครบ 5 ปี คือวันที่ 1 มี.ค. 2569 และจะขายโดยไม่ผิดเงื่อนไขได้ในวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ 2 มี.ค. 2569

3. ผู้ลงทุนที่ซื้อกองทุนสามารถนำเงินนั้นไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษีตลอดทั้งปี หรือไม่เกิน 500,000 บาท แต่เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณประเภทอื่น เช่นกองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund), กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), หรือเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช) และประกันชีวิตแบบบำนาญ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท  (เงินได้ที่ต้องเสียภาษี ให้รวมเงินได้ที่เลือกไม่ยื่นภาษี แต่ไม่รวมถึงเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี)

4. กำไรจากการขายกองทุน RMF ที่ถือไว้ครบเงื่อนไขจะได้รับยกเว้นภาษี แต่ถ้าผิดเงื่อนไข กำไรจากการขายกองทุน RMF ต้องเอาไปเสียภาษีด้วย (เป็นเงินได้ประเภทที่ 8) แต่ถ้าถือจนครบ 5 ปีแล้ว และขายก่อนอายุครบ 55 ปีบริบูรณ์ กำไรจากการขายกองทุน RMF ได้รับยกเว้นภาษี แต่ต้องคืนสิทธิยกเว้นภาษีที่เคยใช้ลดหย่อน RMF ตั้งแต่ตอนซื้อครั้งแรกพร้อมเงินเพิ่ม

1. ผู้ลงทุนไม่จำเป็นต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี และไม่มีขั้นต่ำในการซื้อ

2. ผู้ลงทุนต้องถือครองไม่ต่ำกว่า 10 ปีนับจากวันแรกที่ซื้อกองทุน สำหรับการนับระยะเวลาจะนับตั้งแต่วันแรกซื้อหน่วยลงทุนแบบวันชนวัน ปีชนปี เช่น ถ้าซื้อกองทุนครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 หมายความว่าจะต้องถือจนครบถึงวันที่ 1 มี.ค. 2574 และขายโดยไม่ผิดเงื่อนไขได้ในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 2 มี.ค. 2574 

3. ผู้ที่ซื้อกองทุนสามารถนำเงินนั้นไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปีหรือไม่เกิน 200,000 บาท แต่เมื่อรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณประเภทอื่น เช่น กองทุนรวมสำรองเลี้ยงชีพ (Provident Fund), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), หรือเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ (กอช) และประกันชีวิตแบบบำนาญ จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท (เงินได้ที่ต้องเสียภาษี ให้รวมเงินได้ที่เลือกไม่ยื่นภาษี แต่ไม่รวมถึงเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี)

4. กำไรจากการขายกองทุน SSF ที่ถือไว้จนครบตามเงื่อนไขจะได้รับการยกเว้นทางภาษี แต่ถ้าทำผิดเงื่อนไข กำไรที่ได้จากการขายกองทุนจะต้องเอาไปเสียภาษีด้วย (เป็นเงินได้ประเภทที่ 4) และผู้รับเงินต้องคืนสิทธิยกเว้นภาษีที่เคยใช้ลดหย่อน SSF ตั้งแต่ตอนซื้อครั้งแรกพร้อมเงินเพิ่ม



 

ผู้ลงทุนต้องลงทุนในกองทุน RMF และ SSF อย่างไรดี

1. ช่วงอายุที่เหมาะแก่การลงทุน

RMF - ทุกช่วงอายุที่ต้องการออมเงินเพื่อวัยเกษียณ

SSF - ผู้ที่ยังอายุไม่มาก คือมีอายุต่ำกว่า 50 ปี โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการออมเงินระยะยาวที่ไม่ใช้เพื่อใช้ในยาม เกษียณอายุเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการออมเพื่อการลงทุนในอนาคตด้วย


2. อาชีพที่เหมาะแก่การลงทุน

RMF - ผู้ประกอบการที่มีอาชีพอิสระ ซึ่งไม่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยเกษียณมารองรับ 

- ลูกจ้างที่นายจ้างยังไม่พร้อมที่จะจัดให้มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 

- ลูกจ้างหรือข้าราชการที่มีสวัสดิการออมเงินเพื่อวัยเกษียณอยู่แล้ว แต่มีการความต้องการที่จะออมเพิ่มเติม เพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้เต็มวงเงิน 500,000 บาท

 SSF - ผู้ที่มีรายได้ไม่แน่นอน หรือมีฐานภาษีอยู่ในระดับปานกลาง และมีความต้องการที่จะลดหย่อนภาษี เฉพาะปี 

- ผู้ที่มีรายได้พิเศษเข้ามาเป็นปีๆ เนื่องจาก SSF ไม่มีภาระหรือเงื่อนไขที่จะต้องลงทุนทุกปี

 

เมื่อทราบประโยชน์ของการลงทุนในกองทุน RMF และ SSF แล้ว ก็มาเตรียมตัวคำนวณการลดหย่อนภาษีสำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาก่อนยื่นภาษีปี 2564 ที่กรมสรรพากรจะเปิดให้ยื่นภาษีได้ตั้งวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 มีนาคม 2565 

 

ผู้เขียน : กาญจนา  คำหอม บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด 

About Us

Dharmniti Auditing Co.,Ltd. is a professional service company that specializes in auditing and assurance service.

Privacy Notice

etax