การหลอกลวงจากมิจฉาชีพนั้นมีมานานแล้ว แต่เหล่ามิจฉาชีพก็มีการปรับปรุงเทคนิคและพัฒนาเทคโนโลยี เครื่องมือใหม่ ๆ โดยอาศัยช่องทางออนไลน์ที่มีความสลับซับซ้อนมาใช้ในการหลองลวงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่รู้กันว่าอุปกรณ์ที่ติดตัวคนยุคปัจจุบัน จนแทบจะเป็นปัจจัย 5 ของชีวิตไปแล้วก็คือโทรศัพท์มือถือ จึงไม่แปลกที่คนร้ายจะใช้ช่องทางนี้เป็นช่องทางหลักในการติดต่อกับเหยื่อทั้ง ผ่านทาง SMS การโทรคุยโดยตรง หรือผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ โดยจากรายงานความเสียหายในปีที่ผ่านมามีมากกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งทาง ธปท.ก็ได้มีการออกมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินเพื่อป้องกันความเสี่ยง และปิดช่องโหว่ภัยทางการเงินรูปแบบใหม่ ๆ ปิดโอกาสที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงประชาชนผ่านหลายช่องทาง แต่ก็อย่างที่ทราบกันว่าปัจจุบันก็ยังมีผู้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพจนได้รับความเสียหายอยู่จากหลายๆกลโกง
กลโกงของมิจฉาชีพที่ระบาดมากที่สุด
จากเหตุการณ์ผ่านๆมา สังเกตว่ามิจฉาชีพจะจับจุดอ่อนของเหยื่อในด้านต่าง ๆ ทั้งจากความโลภ และความกลัวมากระตุ้นให้หลงเชื่อ และตอนนี้ไม่ใช่แค่การหว่านแหเพื่อหาเหยื่อเหมือนแต่ก่อน แต่จะมีการหลอกล่อเหยื่อที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น
1. โทรมาอ้างตัวเป็นบุคคลสำคัญ หรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่น่าเชื่อถือ
มิจฉาชีพรูปแบบนี้ที่เราเรียกกันว่า “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” จะโทรหลอกให้เหยื่อโอนเงิน หรือทำภารกิจต่าง ๆ โดยรูปแบบที่นิยมในตอนนี้คือ
อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ขนส่ง แจ้งว่าเรามีการส่งพัสดุตกค้าง และกด 9 เพื่อรับรายละเอียดเพิ่มเติม โดยให้แจ้งชื่อ ที่อยู่ และเลขที่บัตรประชาชน พร้อมให้โอนเงินผ่านบัญชีธนาคารเพื่อนำพัสดุออกจากที่ทำการขนส่ง
อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่กรมศุลกากร แจ้งว่าเรามีส่วนร่วมในขบวนการเปิดบัญชีขนของเถื่อนหนีภาษี จึงขอให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบที่มาที่ไปของเงินในบัญชี อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร แจ้งว่ามีคนนำข้อมูลเราไปเปิดบัญชี แล้วเร่งให้รีบแจ้งตำรวจในเวลาที่กำหนดเพื่อให้เหยื่อไม่สะดวกไปแจ้งความที่สน. จะเสนอส่งต่อให้คุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปลอมหลอกเหยื่อให้หลงเชื่อส่งข้อมูลส่วนตัวและโอนเงิน
ควรสังเกตเบอร์ต้องสงสัยที่อาจมาจากมิจฉาชีพ อาจใช้แอป Whoscall เพื่อช่วยตรวจเช็กเบอร์แปลก ๆ รวมถึงข้อความ SMS ที่ส่งเข้ามาในเบื้องต้น ว่าเบอร์โทร / ข้อความที่ได้รับ มาจากมิจฉาชีพหรือไม่ โดยแอปนี้ใช้งานได้แบบฟรีๆ แต่ต้องมีการเข้าไปอัปเดทฐานข้อมูลอยู่เสมอเพราะมิจฉาชีพใช้เบอร์ใหม่ในการโทรไปหลอกลวงเพิ่มขึ้นในทุกๆวัน
2. ส่ง SMS ปลอม
หลอกให้กดลิงก์ไปยังเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน เพื่อหลอกดูดข้อมูลเหยื่อ มิจฉาชีพมักใช้ชื่อบริษัทหรือองค์กรที่น่าเชื่อถือและเป็นที่รู้จักส่ง SMS มาให้กับคุณ เช่น หน่วยงานของรัฐและสถาบันการเงิน และมักจะเสนอข้อเสนอพิเศษ ของขวัญหรือสิ่งที่มีค่าสมนาคุณ มาให้เจ้าของหมายเลขโทรศัพท์รับสิทธิ์ล่อเหยื่อให้คลิกลิงก์ที่แนบมาด้วย เพื่อรับสิทธิ์นั้นๆ โดยเมื่อได้รับ SMS ปลอม ควรจะติดต่อสอบถามจากบริษัท องค์กร หรือหน่วยงาน ต้นทางเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ SMS ที่ได้รับ กด block and report spam เพื่อป้องกันข้อความอื่นจากเบอร์โทรศัพนั้น
3. ปลอม LINE มาชวนคุย
LINE ปลอมนั้นค่อนข้างระบาดหนักและมีรูปแบบที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการให้เงินกู้ บางครั้งจะแสดงตัวชัดเจนว่าเป็นผู้ให้เงินกู้ แต่บางครั้งก็จะแฝงตัวมาในรูปของร้านค้าต่างๆ รวมถึงแอบอ้างว่าเป็นบริษัท องค์กร หรือหน่วยงานที่รู้จักด้วย ซึ่งการสังเกต LINE ปลอมนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ยาก เนื่องจากจากบัญชี LINE Official account จะแสดงสถานะของบัญชีเป็นรูปโลโก้สีเขียวสำหรับธุรกิจหรือองค์กรขนาดใหญ่ หรือสถานะเป็นรูปโลโก้สีน้ำเงินสำหรับบัญชีที่ได้รับการรับรองแล้ว
4. สร้างเว็บไซต์ปลอมให้ดูน่าเชื่อถือ
มิจฉาชีพจะแอบอ้างสร้างชื่อ URL ของเว็บไซต์ที่คล้ายเว็บไซต์ทางการขององค์กร หรือหน่วยงานนั้นๆ อาจจะถูกเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยเพื่อทำให้แตกต่าง หากไม่สังเกตอย่างละเอียด อาจเชื่อว่าเป็นเว็บไซต์จริงได้ ซึ่งมิจฉาชีพอาจส่ง URL ของเว็บไซต์ปลอมผ่านทาง SMS, LINE, หน้าเพจโซเชียลมีเดีย รวมถึงหน้าค้นหาของ Google เพื่อสร้างความสับสนและกดดาวน์โหลดโปรแกรมที่ไม่เหมาะสมหรือชำระค่าบริการที่สูงกว่าความเป็นจริง:ถ้าหากเจอต้องสงสัยห้ามคลิกเข้าสู่เว็บไซต์โดยเด็ดขาด และสามารถนำ URL ของเว็บไซต์ต้องสงสัยไปตรวจสอบได้ที่เว็บไซต์ https://www.whois.com/whois ซึ่งจะระบุประเทศที่จดทะเบียนเว็บไซต์นั้น ๆ โดยเว็บไซต์ที่จดทะเบียนต่างประเทศถือว่ามีความเสี่ยงสูง
หากเผลอคลิกเข้าสู่เว็บไซต์ไปแล้ว ห้ามคลิกปุ่มหรือ URL อื่น ๆ ที่ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์โดยเด็ดขาด ให้คลิกปิดเว็บไซต์ทันทีติดต่อกับบริษัท องค์กร หรือหน่วยงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเว็บไซต์นั้น ๆ
สรุปวิธีป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยือมิจฉาชีพ
- ควรติดตามข่าวสาร เพื่อได้รู้เท่าทันภัยรูปแบบใหม่ ๆ
- หลีกเลี่ยงการให้ข้อมูลส่วนตัว และข้อมูลทางการเงินกับผู้อื่น
- ไม่คลิกลิงก์ที่ไม่น่าเชื่อถือ ทั้งที่ส่งมาช่องทาง SMS, ช่องทาง Line และช่องทางเว็บไซต์
- ระมัดระวังในการติดตั้งแอปต่าง ๆ ไม่ดาวน์โหลดแอปนอกเหนือจากแหล่งที่เชื่อถือได้
- ไม่ใช้โทรศัพท์ที่ไม่ปลอดภัย ขณะทำธุรกรรมทางการเงิน และต้องมีสติในการทำธุรกรรมการเงินทุกครั้ง
- ควรอัปเดตระบบปฏิบัติการของโทรศัพท์ที่ใช้งาน และแอปของธนาคาร ให้เป็นเวอร์ชั่นล่าสุดอยู่เสมอ
- เพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมออนไลน์ โดยเพิ่มการเข้าสู่ระบบด้วยรหัสผ่าน 2 ชั้น (Two-Factor Authentication)
วิธีปฏิบัติเมื่อโดนมิจฉาชีพหลอกลวงจนเกิดความเสียหาย
- ให้ตั้งสติ และหยุดการติดต่อกับมิจฉาชีพทันที
- รวบรวมหลักฐานแจ้งธนาคารที่เกิดธุรกรรมที่ได้รับความเสียหายทันที ผ่านช่องทาง Call Center ที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง
- ติดต่อสาขาธนาคาร ภายในเวลาทำการ เพื่อทำการระงับธุรกรรม หรือบัญชีชั่วคราวของผู้เสียหาย และบัญชีปลายทาง เนื่องจากธนาคารจะมีสิทธิสามารถระงับบัญชีเพื่อให้ตำรวจสามารถตรวจสอบได้ 7 วัน เพื่อดำเนินการอายัดบัญชีต่อไป
- ปรึกษาและแจ้งเบาะแสได้ที่เบอร์ 1441 หรือเบอร์ 081-866-3000
- แจ้งความภายใน 72 ชั่วโมง ที่สถานีตำรวจ หรือช่องทางออนไลน์ ได้ที่ https://www.thaipoliceonline.com/
สุดท้ายมิจฉาชีพออนไลน์มักจะสรรหาวิธีการใหม่ ๆ มาหลอกล่อและโน้มน้าวให้ผู้คนตกเป็นเหยื่อมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นเราควรระมัดระวัง มีความช่างสังเกต เพื่อให้ไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพเหล่านี้ และที่สำคัญควรแชร์ความรู้ต่อให้คนในครอบครัว เพื่อนและคนรอบตัวให้รู้เท่าทันกลโกงดังกล่าวเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้สูงวัยที่ไม่มีความรู้ด้านสารสนเทศ และเชื่อคนง่าย อาจจะตกเป็นเหยื่อของการโกงทรัพย์หรือหลอกล่อเอาข้อมูลส่วนตัวออนไลน์ไปได้โดยง่าย การรู้เท่าทันปัจจัยความเสี่ยงและการรู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพจะช่วยให้คุณและครอบครัวหลีกเลี่ยงการถูกหลอกลวงฉ้อโกงได้
ผู้เขียน : นางสาวชฎาพา สุขสมัย
แหล่งที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย