การยกหนี้ให้ ตอนที่ 1/2
บริษัทหลายแห่งเปิดมาแล้วอาจประสบกับปัญหาในการดำเนินธุรกิจ ทำให้ผลประกอบการของบริษัทขาดทุนติดต่อกันเป็นเวลานาน เงินทุนที่ลงไปก็ไม่พอ ต้องหาแหล่งเงินอื่นมาช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง จะขอกู้ธนาคารก็ไม่มีหลักประกัน ใกล้ตัวสุดก็เป็นการกู้ยืมเงินจากกรรมการหรือผู้ถือหุ้นนี้เอง โดยจะขอยกตัวอย่างจากกรณีที่พบว่าบริษัทเจอวิกฤติปัญหาสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนัก บริษัทจึงทำสัญญาเงินกู้ยืมจากกรรมการหรือผู้ถือหุ้นจำนวน 20 ล้านบาท กำหนดจ่ายคืนเมื่อทวงถามและคิดดอกเบี้ยร้อยละ 3 ต่อปี เมื่อเวลาผ่านไป บริษัทยังคงไม่สามารถจ่ายชำระคืนเงินกู้ยืมและดอกเบี้ยดังกล่าวได้ กรรมการได้ประเมินทิศทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทแล้วเห็นว่า บริษัทไม่น่าจะไปต่อได้อีก กรรมการหรือผู้ถือหุ้นจึงตัดสินใจนำเสนอที่จะยกหนี้ดังกล่าวให้บริษัท เมื่อนักบัญชีพบเหตุการณ์แบบนี้ ต้องทำอย่างไรบ้าง?
1. หลักฐานการยกหนี้
ต้องมีหลักฐานประกอบการยกหนี้ให้ ได้แก่ จดหมายยกหนี้ให้จากกรรมการหรือผู้ถือหุ้นที่เป็นลายลักษณ์อักษร และมีการลงนามไว้อย่างถูกต้องและครบถ้วนของทั้งสองฝ่ายเห็นชอบร่วมกัน
2. การบันทึกบัญชี
ตามหลักการบัญชี การยกหนี้ให้กันดังกล่าวไม่ถือเป็นรายได้ เพราะไม่เข้าตามคำนิยามของการรับรู้รายได้ เนื่องจากเป็นหนี้ที่เกิดจากการกู้ยืมเงินจากกรรมการหรือผู้ถือหุ้นจริง (ตามเอกสารรายชื่อผู้ถือหุ้น บอจ. 5) ไม่ได้เกิดจากรายการค้าระหว่างกัน ดังนั้น จึงถือว่าการยกหนี้เป็นส่วนที่กรรมการหรือผู้ถือหุ้นมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบซึ่งถือเป็นส่วนของเจ้าของในงบการเงิน บัญชีควรบันทึกรายการ ดังนี้
เดบิต เจ้าหนี้เงินกู้ยืมจากกรรมการหรือผู้ถือหุ้น : 20 ล้านบาท
เครดิต ส่วนเกินทุนจากการยกหนี้ให้ (ส่วนของเจ้าของ) : 20 ล้านบาท
3. ภาษีที่เกี่ยวข้อง
ตามหลักของภาษีอากรไม่มีของฟรีนะคะ กรณีการยกหนี้ให้. สรรพากรจึงถือว่าเงินที่ยกให้นั้นเป็นรายได้ของบริษัทที่ต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลตามเงินที่ได้รับการยกหนี้ให้นั้น ซึ่งบัญชีควรบันทึกรายการ ดังนี้
เดบิต ภาษีเงินได้ (20,000,000 x 20%) : 4 ล้านบาท
เครดิต เจ้าหนี้กรมสรรพากร : 4 ล้านบาท
ผู้เขียน : คุณสุลลิต อาดสว่าง
บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด