[ถามมา-ตอบไป]
ธุรกิจประเภทใดที่ไม่ต้องมีการจัดทำบัญชี ตาม พรบ_การบัญชี ?
คำตอบ :
สำหรับบุคคลธรรมดา และห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียน ไม่ต้องจัดทำบัญชี เว้นแต่รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี จะออกประกาศให้เป็นผู้ที่มีหน้าที่จัดทำบัญชี ซึ่งเมื่อเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีแล้ว จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับวันเริ่มทำบัญชีเริ่มแรก และวิธีการจัดทำบัญชีของบุคคลธรรมดา หรือห้างหุ้นส่วนที่มิได้จดทะเบียนนั้น ตามที่อธิบดีกำหนด
เพิ่มเติม :
ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี คือ ผู้มีหน้าที่จัดให้มีการทำบัญชีตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543
กำหนดผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี
กำหนดให้เฉพาะนิติบุคคลเท่านั้นที่มีหน้าที่จัดทำบัญชี และกำหนดให้กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากรเป็นผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชีด้วย โดยกำหนดวันเริ่มทำบัญชีของนิติบุคคลต่างๆ ไว้ด้วย ดังนี้
ประเภทนิติบุคคล > วันเริ่มทำบัญชี
ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน > วันที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย
บริษัทจำกัด > วันที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย
บริษัทมหาชนจำกัด > วันที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายไทย
นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจในประเทศไทย > วันที่เริ่มต้นประกอบธุรกิจในประเทศไทย
กิจการร่วมค้าตามประมวลรัษฎากร > วันที่เริ่มต้นประกอบกิจการ
เพิ่มเติม ในแง่สรรพากร :
การจัดทำบัญชีแสดงรายได้และรายจ่ายของบุคคลธรรมดาที่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
> เป็นผู้ประกอบการที่มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ได้แก่ บุคคลธรรมดา ห้างหุ้นส่วนสามัญ
> หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ผู้ถึงแก่ความตายระหว่างปีภาษี และกองมรดกที่ยังมิได้แบ่ง
> เป็นผู้ประกอบการที่มีเงินได้มาตรา 40(5)-(8) แห่งประมวลรัษฎากร และไม่ได้จดทะเบียน ภาษีมูลค่าเพิ่ม
จะต้องจัดทำบัญชีหรือรายงานแสดงรายได้และรายจ่ายประจำวัน ซึ่งเรียกว่า “รายงานเงินสดรับ-จ่าย”
> ประโยชน์ของการจัดทำ “รายงานเงินสดรับ-จ่าย” จะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบรายได้ รายจ่ายและผลกำไร นอกจากนั้น ยังนำไปใช้ประกอบการพิจารณาขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินได้ด้วย
ที่มา : Facebook ภาษีรู้ไว้ได้เปรียบ