มาตรฐานทางการเงินสำหรับกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมที่จะนำมาใช้ในปี 2560 สำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียสาธารณะ (NPAEs) นั้น ดร.สันสกฤต วิจิตรเลขาการ อาจารย์ภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า
มาตรฐาน NPAEs ที่ใช้กันอยู่ ในปัจจุบันซึ่งใช้มาประมาณ 4-5 ปีแล้ว พบว่ามีปัญหาในทางปฏิบัติค่อนข้างมาก เนื่อง จากว่า NPAEs บางประเภท มีลักษณะทางธุรกรรมที่ค่อนข้างซับซ้อน ในขณะที่ NPAEs บางประเภทก็ไม่ค่อยซับซ้อน ด้วยความแตกต่างในกลุ่มของ NPAEs ด้วยเอง ส่งผลให้ผู้ใช้ NPAEs บางส่วนหันไปใช้มาตรฐานสำหรับชุดใหญ่ไป ส่วนบางกิจการก็ใช้ชุดเล็กที่เป็น NPAEs นอกจากนั้นแล้ว บางกิจการก็ใช้มาตรฐานชุดเล็กแต่เพิ่มเติมมาตรฐานบางเรื่องของชุดใหญ่เข้าไป การใช้มาตรฐานบัญชีในลักษณะนี้ย่อมทำให้เกิดความสับสน
อีกประการหนึ่งมาตรฐาน NPAEs ยังไม่สามารถรองรับธุรกรรมทางการเงินในบางเรื่องได้ และวิธีการปฏิบัติทางการบัญชีค่อนข้างเยอะ ยกตัวอย่าง เรื่องเงินลงทุนในกิจการร่วมค้า บริษัทร่วม บริษัทย่อย ควรจะใช้วิธีส่วนได้เสียเพราะมีประสิทธิภาพในการสะท้อนภาพของธุรกิจได้ดีกว่า หรือเรื่องที่ดิน อาคารและอุปกรณ์ มีข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่ให้สิทธิในการตีราคาเพิ่ม และในเรื่อง fair value ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนเช่นกัน ที่มาตรฐานชุดเล็กต้องใช้ราคาทุนเท่านั้น แต่มาตรฐานชุดใหญ่สามารถใช้ fair value ได้ เกิดคำถามและข้อสงสัยจากผู้ใช้มาตรฐานชุดนี้ว่าเหตุใดมาตรฐานชุดเล็กจึงไม่สามารถใช้ fair value ได้ดังนั้นปัญหาและข้อสงสัยเหล่านี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องพิจารณาและปรับปรุงมาตรฐาน NPAEs
และสิ่งสุดท้ายที่สภาวิชาชีพบัญชีเล็งเห็นคือ อนาคตภายภาคหน้าเศรษฐกิจระหว่างประเทศจะมีการขยายตัวโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ดังนั้นการใช้มาตรฐานทางบัญชีต้องใช้ให้เป็นสากลมากขึ้นเพื่อสื่อสารในทิศทางเดียวกันกับประเทศต่างๆ และการใช้มาตรฐานที่เป็นสากลส่งผลต่อเรื่องอื่นอีกหลายเรื่อง อาทิ การระดมเงินทุน อาจจะมีต้นทุนในการระดมเงินทุนต่ำลง ซึ่งภาพรวม NPAEs ชุดปัจจุบันไม่ได้ครอบคลุมถึงธุรกรรมที่ซับซ้อนเช่นนั้น
กล่าวโดยสรุป สาเหตุที่ต้องเปลี่ยนมา TFRS for SMEs คือ
1. เพื่อให้สามารถรองรับธุรกรรมที่มีความซับซ้อน ซึ่ง TFRS for NPEAs ฉบับปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมถึง
2. เพื่อให้สามารถรองรับธุรกรรมซึ่ง TFRS for NPAEs ฉบับปัจจุบันครอบคลุมถึง (และมีวิธีปฏิบัติอย่างง่าย) แต่ไม่อาจสะท้อนภาพการดำเนินธุรกิจที่ซับซ้อนให้ชัดเจนขึ้น
3. เพื่อลดความยุ่งยากซับซ้อนที่มีอยู่ในข้อกำหนดของ TFRS for NPAEs
4. เพื่อสนองความต้องการของผู้ใช้งบการเงินกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจากกลุ่มครอบครัวผู้ก่อตั้งกิจการ เช่น สถาบันการเงิน กรมสรรพากร
5. เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจและเตรียมความพร้อมในการเป็น “SMEs ข้ามชาติ” โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศแถบอาเซียน
ข้อมูลเพิ่มเติม
- https://www.youtube.com/watch?v=rM_IwlUntOM