“โรลส์-รอยซ์” เอวัง! ประชุม ศอตช.วนในอ่าง แค่เพิ่มสั่งอัยการสูงสุดร่วมมือ “สหรัฐ-อังกฤษ” ขอข้อมูลอีกช่องหนึ่ง อ้างเป็นทางการใช้เป็นพยานหลักฐานได้เลย สอบ “ซีซีทีวี” แทบไม่ขยับ
เมื่อวันพฤหัสบดี มีการประชุมศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เพื่อติดตามความคืบหน้ากรณีทุจริตรับสินบนและการพิจารณามาตรการป้องกันปราบปราม โดยเฉพาะการรับสินบนของบริษัทโรลส์-รอยซ์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง และใช้เวลาประชุมกว่า 3 ชั่วโมง
โดยนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธาน ศอตช. กล่าวภายหลังการประชุมว่า ศอตช.ได้หารือเรื่องสินบนโรลส์-รอยซ์ เพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชน ซึ่งนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้รายงานความคืบหน้าให้ที่ประชุมรับทราบ ซึ่งข้อมูลที่ ป.ช.ช.ชี้แจงมีความคืบหน้าเพิ่มมากขึ้น โดยได้รับข้อมูลภายในประเทศจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาพอสมควร และขณะนี้ประธาน ป.ป.ช.มีมติรับเรื่องสินบนโรลส์-รอยซ์ไว้เพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนตั้งอนุกรรมการไต่สวนต่อไป ตอนนี้จึงอยู่ในขั้นตอนของการแสวงหาข้อเท็จ คือเริ่มพบว่ามีข้อมูล มีเบาะแสอะไรเพิ่มมากขึ้น
“ที่ประชุมยังมีความเห็นเพิ่มเติมว่าควรเพิ่มมาตรการตรวจสอบเนื่องนี้ให้รวดเร็วขึ้น และสามารถหาตัวผู้ที่กระทำความผิดได้อย่างชัดเจนมากขึ้น จึงมีความเห็นว่าให้หารือกับสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เพื่อใช้อำนาจหน้าที่ของ อสส.ตามพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องอาญา พ.ศ.2535 ซึ่งไทยมีความตกลงกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ โดยผมจะเร่งรัดให้อัยการติดต่อกับผู้ประสานงานกลางของอเมริกาและอังกฤษ เพื่อนำไปสู่การได้หลักฐานที่สามารถนำมาใช้ดำเนินคดีได้อีกทางหนึ่ง”นายสุวพันธุ์กล่าว
นายสุวพันธุ์กล่าวถึงข้อดีของการใช้ พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า เป็นข้อมูลหลักฐานที่เป็นข้อมูลทางราชการ ซึ่งจะสามารถรวบรวมใช้ดำเนินคดีได้เลย สรุปว่าเรื่องของสินบนโรลส์-รอยซ์ ทุกหน่วยงานที่มีหน้าที่ทำการตรวจสอบได้ดำเนินงานไปตามหน้าที่ แต่เราจะเพิ่มการดำเนินการผ่านอัยการสูงสุด เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่เป็นทางการกับหน่วยงานที่เป็นผู้ประสานงานกลางตาม พ.ร.บ.ดังกล่าวด้วย ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานนี้เป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น และได้ข้อมูลรอบด้านมากขึ้น
เมื่อถามว่า แสดงว่า อสส.จะเป็นคนรับข้อมูลจากต่างประเทศเพียงจุดเดียว แล้วกระจายไปหน่วยงานใช่หรือไม่ นายสุวพันธุ์ตอบว่า ข้อมูลจะทำสองทาง เพราะ ป.ป.ช.มีหน่วยงานประสานงานอยู่แล้ว แต่ของ อสส.จะเป็นทางการ ซึ่งเรียกว่าผู้ประสานงานกลาง ซึ่งอาจไม่ใช่ ป.ป.ช.ของอเมริกาหรืออังกฤษ แต่อาจเป็นสำนักงานอัยการของอเมริกาหรืออังกฤษก็ได้ ซึ่ง อสส.จะเป็นผู้ประสานกับหน่วยงานกลางนี้ โดยข้อมูลมันก็จะแตกต่างกันตรงที่ว่าข้อมูลจากอัยการสูงสุดตาม พ.ร.บ.นี้จะเป็นข้อมูลที่เป็นทางการแล้วใช้เป็นพยานหลักฐานได้เลย
ถามต่อว่า เรื่องอายุความจะเป็นอุปสรรคในการดำเนินการหรือสามารถเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องฝ่ายไทยได้หรือไม่ นายสุวพันธุ์ตอบว่า ต้องเห็นข้อมูลก่อน ซึ่งถ้าเห็นแล้วจะรู้ว่าต้องใช้กฎหมายฉบับใด เรื่องนี้มันเชื่อมโยงกับการฟอกเงินหรือไม่ ถ้ามันเชื่อมโยงก็สามารถใช้ พ.ร.บ.การฟอกเงินได้ ดังนั้นยังพูดตอนนี้ไม่ได้ ต้องรอเห็นข้อมูลรอบด้านก่อน
นายสุวพันธุ์ยังกล่าวถึงสินบนการจัดซื้อสายไฟฟ้าของบริษัท เจเนอรัล เคเบิล คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตและจำหน่ายสายเคเบิล และคดีสินบนสุราของบริษัทดิอาจีโอ บีแอลซี ว่า ป.ป.ช.ได้รายงานว่าได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนแล้ว หากตรงกับความผิดตามกฎหมายใดก็ดำเนินการทันที ส่วนข้อเสนอมาตรา 44 ของกระทรวงการคลังในเรื่องการยกเว้นโทษทางอาญาผู้ให้สินบนที่รับสารภาพนั้น ที่ประชุมก็ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาทำหน้าที่รวบรวมความคิดเห็นจากทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่อยู่ใน ศอตช. ก่อนประเมินผลเป็นข้อสรุปต่อไป
วันเดียวกัน พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีสินบนกล้องวงจรปิด(ซีซีทีวี) รัฐสภา กล่าวว่า ได้ส่งหนังสือไปที่ ป.ป.ช., สตง. และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เพื่อขอตัวแทนจาก 3 หน่วยงานให้มาร่วมประชุมในสัปดาห์หน้า ส่วนการขอข้อมูลจากต่างประเทศนั้น ต้องขอจากทาง ป.ป.ช.เท่านั้น โดยตอนนี้มีข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์และกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐระบุว่ามีการจ่ายเงินสินบนให้เจ้าหน้าที่ไทย 5 หมื่นดอลลาร์ ซึ่งรายละเอียดยังไม่มากนัก ต้องประสานกับสหรัฐอีกทีหนึ่ง เพื่อให้ทราบว่าเจ้าหน้าที่คนนี้เป็นใคร และคงต้องขอความร่วมมือจาก ป.ป.ช.ตรงนี้ด้วย
“ผลการตรวจสอบการจัดซื้อกล้องซีซีทีวีนั้น พบว่าในช่วงปี 2550-2552 ไม่พบความผิดปกติแต่อย่างใด แต่คณะกรรมการฯ ได้พบข้อพิรุธในการจัดซื้อจัดจ้างช่วงปี 2547-2549 ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่รัฐสภามีงบประมาณเหลือ จึงคาดว่าเป็นดำริของประธานรัฐสภาในขณะนั้นที่ต้องการให้มีการจัดซื้อกล้องสำหรับรัฐสภา ซึ่งคณะกรรมการฯ ต้องไปตรวจสอบรายละเอียดกันต่อไป” พล.อ.อ.วีรวิทกล่าว
สำหรับประธานรัฐสภาที่ดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2547-2549 นั้น มีด้วยกัน 2 คนคือ นายอุทัย พิมพ์ใจชน ที่ดำรงตำแหน่งในปี 2544-2548 และนายโภคิน พลกุล ที่ดำรงตำแหน่งในปี 2548-2549.
ขอบคุณที่มา : ไทยโพสต์