178 อาคารธรรมนิติ ชั้น 6-7 ซอยเพิ่มทรัพย์ (ประชาชื่น20) ถนนประชาชื่น แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร 10800

ข่าวสารวิชาชีพ

ผู้สอบบัญชีภาษีอากร มีสิทธิและหน้าที่อย่างไร ? (บทความจากสรรพากรสาส์นเดือนตุลาคม 2546)

ผู้สอบบัญชีภาษีอากร มีสิทธิและหน้าที่อย่างไร

สิทธิของผู้สอบบัญชีภาษีอากร

สามารถลงลายมือชื่อรับรองการตรวจสอบและรับรองบัญชีงบการเงินของห้างหุ้นส่วน จดทะเบียนที่จัดตั้งขี้นตามกฎหมายไทยที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดให้งบการเงินได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นโดยผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตามกฎกระทรวงที่ออกตามความในพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ.2543 (ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับยกเว้นดังกล่าว มีทุนไม่เกิน 5 ล้านบาท สินทรัพย์รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท และรายได้รวมไม่เกิน 30 ล้านบาท ซึ่งเรียกว่า “ห้างหุ้นส่วน นิติบุคคลขนาดเล็ก”)

หน้าที่ของผู้สอบบัญชีภาษีอากร

1. หน้าที่ในการตรวจสอบและรับรองบัญชีงบการเงินของห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลขนาดเล็ก โดยจะต้องปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชีตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.122/2545 เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติงาน และการรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีของผู้สอบบัญชีภาษีอากรตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2545  ดังนี้

1.1 มาตรฐานการปฏิบัติงาน ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องปฏิบัติดังนี้

(1) ต้องจัดทำแนวทางการสอบบัญชีสำหรับงานที่รับตรวจสอบไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้ทราบถึงวิธีการปฏิบัติงานตรวจสอบ โดยให้จัดเก็บแนวทางการสอบบัญชีดังกล่าวไว้เป็นหลักฐาน

(2) ต้องจัดทำกระดาษทำการ เพื่อบันทึกการตรวจสอบและจัดเก็บไว้เป็นหลักฐาน

(3) การปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชีให้ผู้สอบบัญชีภาษีอากรเน้นการทดสอบความถูกต้องของงบการเงินและบัญชีว่าถูกต้องเป็นจริงตามควรตรงตามเอกสารประกอบการลงบัญชี และบันทึกบัญชีตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือไม่ ซึ่งงบการเงินต้องแสดงข้อมูลและรายการตรงตามสมุดบัญชี รวมถึงการตรวจสอบความถูกต้องในส่วนที่เป็นสาระสำคัญทางด้านภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร โดยเลือกใช้วิธีการตรวจสอบต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับกรณี

(4) ต้องทำการตรวจสอบการปรับปรุงกำไรสุทธิ/ขาดทุนสุทธิทางบัญชี เป็นกำไรสุทธิ/ขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีอากร รวมถึงการตรวจสอบการจัดทำบัญชีพิเศษของกิจการที่กำหนดไว้ตามประมวลรัษฎากร

(5) ในกรณีที่พบว่าห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีพฤติการณ์ในการทำเอกสารประกอบการลงบัญชีหรือบันทึกบัญชี โดยเห็นว่าจะไม่ตรงกับความเป็นจริงอันอาจเป็นเหตุให้ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นมิต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลงกว่าที่ควรเสีย ให้ผู้สอบบัญชีภาษีอากรเปิดเผยข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของบัญชี และแจ้งพฤติการณ์ไว้ในรายงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีที่ตนจะต้องลงลายมือชื่อรับรอง

1.2 การแจ้งรายชื่อกิจการที่ตรวจสอบและรับรองบัญชี

ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องแจ้งจำนวนและรายชื่อห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตนจะ ลงลายมือชื่อรับรองการตรวจสอบและรับรองบัญชีต่ออธิบดีตามแบบแจ้งจำนวนและรายชื่อห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีจะลงลายมือชื่อรับรอง (แบบ บภ.07) ภายในวันที่ 30 มิถุนายน ของทุกปี พร้อมแนบหนังสือตอบรับงานการตรวจสอบและรับรองบัญชีที่มีข้อความอย่างน้อยตามแบบท้ายคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.122/2545 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2545 

กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนและรายชื่อห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้แจ้งไว้ตามแบบ บภ.07 ให้แจ้งการเปลี่ยนแปลงต่ออธิบดีกรมสรรพากรตามแบบแจ้งการเปลี่ยนแปลงจำนวนและรายชื่อห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีจะลงลายมือชื่อรับรอง (แบบ บภ.08) ภายในวันที่ 5 ของเดือนถัดจากเดือนที่มีการเปลี่ยนแปลงนั้น ทั้งนี้ต้องแจ้งก่อนวันที่ลงลายมือชื่อรับรองการตรวจสอบและรับรองบัญชี

ในกรณีที่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรไม่มีการลงลายมือชื่อรับรองการตรวจสอบและรับรองบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีใด ๆ ก็ต้องแจ้งด้วยแบบ บภ.07 ภายใน 30 มิถุนายน ของทุกปี โดยระบุในช่องไม่มีการลงลายมือชื่อรับรองการตรวจสอบและรับรองบัญชี

2. ต้องประพฤติตนตามจรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.123/2545 เรื่องกำหนดจรรยาบรรณของผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน   พ.ศ.2545 ดังนี้

2.1 ความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรม และความซื่อสัตย์สุจริต

(1) ไม่รับตรวจสอบและรับรองบัญชีในกิจการที่ตนขาดความเป็นอิสระ

(2) ไม่รับตรวจสอบและรับรองบัญชีในกิจการที่ตนขาดความเป็นกลางโดยมีผลประโยชน์หรือตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับกิจการนั้น หรือโดยมีเหตุอื่นที่อาจก่อให้เกิดความลำเอียงและส่งผลให้มีการละเว้นการเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยกว่าความเป็นจริง

(3) ปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชีด้วยความเที่ยงธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต

(4) ไม่ปกปิดข้อเท็จจริงหรือบิดเบือนความจริงอันเป็นสาระสำคัญของงบการเงินที่ตนลงลายมือชื่อรับรองไว้ในรายงาน ซึ่งอาจทำให้เกิดการหลงผิดและอาจเสียหายแก่กิจการที่ตรวจสอบและรับรองบัญชีนั้น หรือแก่กรมสรรพากร หรือแก่บุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง

(5) ไม่เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อ ขาย ออก หรือใช้ใบกำกับภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

(6) ไม่เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการลงบัญชีหรือการทำเอกสารประกอบการลงบัญชี ซึ่งเป็นเหตุให้กิจการที่ตรวจสอบและรับรองบัญชีนั้นมิต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยลงกว่าที่ควรเสีย

(7) ไม่เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและรับรองบัญชีของกิจการใด ซึ่งมีเหตุผลเชื่อได้ว่ามีข้อมูลที่ผิดหรือบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงและมีการละเว้นหรือ  ปิดบังข้อมูลที่จำเป็นต้องยื่นต่อกรมสรรพากร

(8) ไม่รับรองบัญชีที่ตนเป็นผู้จัดทำขึ้นเอง หรือช่วยเหลือ หรือเป็นผู้จัดทำบัญชีชุดอื่นขึ้น เพื่อเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีอากร

2.2 ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงาน

(1) ต้องปฏิบัติงานด้วยความรู้ความสามารถของวิชาชีพ

(2) ไม่ตรวจสอบและรับรองบัญชีในกิจการที่เกินความรู้ความสามารถของตนที่จะปฏิบัติงานได้ และไม่ทำการตรวจสอบและรับรองบัญชีเกินกว่า 300 รายต่อปี

(3) ไม่ลงลายมือชื่อรับรองในรายงานของกิจการที่ตนมิได้ปฏิบัติงานตรวจสอบหรือควบคุมการปฏิบัติงานตรวจสอบ

(4) สอดส่องใช้ความรู้ความระมัดระวังในการตรวจสอบและรับรองบัญชี   เยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพโดยทั่วไป

(5) ไม่ยินยอมให้ผู้อื่นอ้างว่าตนเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีในกิจการใด โดยตนมิได้ปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชี

2.3 จรรยาบรรณต่อผู้เสียภาษี

(1) ไม่เปิดเผยความลับกิจการของผู้เสียภาษีหรือผู้อื่นที่เกี่ยวข้องโดยนำออกแจ้งแก่ ผู้ใด หรือให้ทราบโดยวิธีใดสำหรับกิจการที่ตนได้รู้มาในหน้าที่จากการตรวจสอบและรับรองบัญชีอันเป็นเหตุให้กิจการนั้นได้รับความเสียหาย เว้นแต่การกระทำนั้นเป็นการกระทำตามหน้าที่ทาง วิชาชีพหรือตามกฎหมาย

(2) ไม่ละทิ้งการปฏิบัติงานตรวจสอบและรับรองบัญชีที่รับไว้แล้วโดยไม่มีเหตุอันสมควร

2.4 จรรยาบรรณต่อผู้ร่วมอาชีพ

(1) ไม่แย่งงานตรวจสอบและรับรองบัญชีจากผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีอื่น

(2) ไม่ทำการตรวจสอบและรับรองบัญชีเกินกว่าที่ได้รับมอบหมายจากผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีอื่น เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้รับมอบหมายนั้น 

2.5 จรรยาบรรณทั่วไป

(1) ไม่กระทำการใด ๆ อันอาจนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายภาษีอากร หรือกฎหมายอื่น

(2) ไม่โฆษณาหรือยินยอมให้ผู้อื่นโฆษณาด้วยประการใด ๆ ซึ่งการประกอบวิชาชีพอันแสดงให้เห็นว่าจะช่วยเหลือให้เสียภาษีน้อยกว่าความเป็นจริง

(3) ไม่ให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์ใด ๆ เพื่อเป็นการจูงใจให้ บุคคลอื่นแนะนำหรือจัดหางานตรวจสอบและรับรองบัญชีมาให้ตนทำ

(4) ไม่เรียกหรือรับทรัพย์สินหรือประโยชน์จากบุคคลใดในเมื่อบุคคลนั้นได้รับงานเพราะการแนะนำหรือการจัดหางานของตน

(5) ไม่กำหนดค่าธรรมเนียมหรือค่าตอบแทนโดยถือเอาอัตราสูงต่ำตามยอดเงินหรือของมูลค่าทรัพย์สินใดที่ตนตรวจสอบและรับรองบัญชี หรือมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและรับรองบัญชีเป็นเกณฑ์

3. ต้องสอดส่องใช้ความรู้และความระมัดระวังในการตรวจสอบและรับรองบัญชีเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพโดยทั่วไปต้องปฏิบัติ ในกรณีที่พบว่าบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลเจ้าของบัญชีได้มีการกระทำหรืองดเว้นการกระทำเอกสารประกอบการลงบัญชีและหรือลงบัญชีโดยที่  เห็นว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง อันอาจเป็นเหตุให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น มิต้องเสียภาษีหรือเสียภาษีน้อยกว่าที่ควรเสียอันเป็นสาระสำคัญ ให้ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีเปิดเผยข้อเท็จจริงที่พบในแบบแจ้งข้อความที่อธิบดีกำหนด

ในกรณีที่กรรมการหรือผู้เป็นหุ้นส่วนหรือผู้จัดการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลแจ้งข้อความเกี่ยวกับกิจการของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามแบบแจ้งข้อความที่อธิบดีกำหนดเพื่อยื่นพร้อมกับแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลของกิจการนั้น ให้ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีทำการทดสอบรายการดังกล่าวด้วย

4. ต้องเสียภาษีอากรของตนเองให้ถูกต้องครบถ้วน กรณีผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีจงใจหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรให้ถือว่าปฏิบัติฝ่าฝืนระเบียบที่อธิบดีกำหนด

5. ผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชีที่ฝ่าฝืนระเบียบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดในประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชี (ฉบับที่ 2) เรื่องกำหนดระเบียบเกี่ยวกับการตรวจสอบและรับรองบัญชีตามมาตรา 3 สัตต แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ.2545 อธิบดีอาจพิจารณาสั่งถอนใบอนุญาตการเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองบัญชี เสียก็ได้ 

6. ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องเข้ารับการอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากร ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ได้กำหนดตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรของผู้สอบบัญชีภาษีอากร  ลงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2546 ดังนี้

6.1 ต้องเข้ารับการอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรจากองค์กรวิชาชีพหรือหน่วยงานที่อธิบดีให้ความเห็นชอบในการจัดอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรแก่ผู้สอบบัญชีภาษีอากรไม่น้อยกว่า 9 ชั่วโมงต่อปี และแจ้งการเข้ารับการอบรมต่ออธิบดีผ่านผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการสอบบัญชีภาษีอากรตามแบบคำขอแจ้งการเข้ารับการอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากร  (แบบ บภ.06) ภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ใบอนุญาตมีอายุครบทุก 1 ปี สำหรับปีสุดท้ายที่ใบอนุญาตสิ้นอายุให้แจ้งพร้อมกับการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต

สำหรับรายชื่อองค์กรวิชาชีพหรือหน่วยงานที่อธิบดีให้ความเห็นชอบในการจัดอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรแก่ผู้สอบบัญชีภาษีอากร ซึ่งสามารถตรวจสอบจากเว็ปไซต์กรมสรรพากรที่ www.rd.go.th

6.2 กรณีมีเหตุจำเป็นไม่สามารถเข้ารับการอบรมตามที่อธิบดีกำหนดได้ ให้ยื่นคำขอ ผ่อนผันการเข้ารับการอบรมต่ออธิบดีผ่านผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการสอบบัญชีภาษีอากร  ตามแบบคำขอทั่วไป (แบบ บภ.03) ภายใน 1 เดือนนับแต่วันที่ใบอนุญาตมีอายุครบทุก 1 ปี   สำหรับปีสุดท้ายที่ใบอนุญาตสิ้นอายุจะไม่พิจารณาผ่อนผันให้

6.3 ผู้สอบบัญชีภาษีอากรที่ไม่ได้เข้ารับการอบรมหรือเข้ารับการอบรมน้อยกว่า 9 ชั่วโมงต่อปี อธิบดีอาจพิจารณาพักใบอนุญาตการเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรเป็นการชั่วคราวจนกว่าผู้นั้น จะได้เข้ารับการอบรมครบตามที่กำหนดและแจ้งการเข้ารับการอบรมดังกล่าวต่ออธิบดีตามแบบ บภ.06

6.4 เอกสารหลักฐานที่ต้องยื่นพร้อมการแจ้งการเข้ารับการอบรม

(1) สำเนาหรือภาพถ่ายใบประกาศนียบัตร หรือหนังสือรับรองการเข้ารับการอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรจากองค์กรวิชาชีพบัญชีหรือหน่วยงานที่อธิบดีให้ความเห็นชอบในการจัดอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรแก่ผู้สอบบัญชีภาษีอากร

(2) สำเนาหรือภาพถ่ายใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมการเข้ารับการอบรม

7. การต่ออายุใบอนุญาต ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะต้องดำเนินการก่อนที่ใบอนุญาตจะหมดอายุ ดังนี้

7.1 ผู้สอบบัญชีภาษีอากรต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร ต่ออธิบดีตามแบบ บภ.04  และชำระค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต จำนวน 200 บาท ภายใน    3 เดือนก่อนที่ใบอนุญาตสิ้นสุด โดยให้แนบสำเนาหรือภาพถ่ายใบประกาศนียบัตรหรือหนังสือรับรองผ่านการอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากร ที่ได้รับการอบรมระหว่างที่เป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรตาม 7.

7.2 กรณีไม่สามารถยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรภายในเวลาที่กำหนดใน 3 เดือนก่อนใบอนุญาตสิ้นสุด  ผู้สอบบัญชีภาษีอากรจะยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตก่อนระยะเวลาดังกล่าวได้เมื่อได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีแล้ว แต่ทั้งนี้ต้องขอต่ออายุใบอนุญาตภายในเวลาไม่เกิน 6 เดือนก่อนวันที่ใบอนุญาตสิ้นสุด มิฉะนั้นให้ถือว่าผู้นั้นหมดสภาพการเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากร และหากประสงค์จะเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรต่อไปจะต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตและเข้ารับการอบรมทางด้านกฎหมายภาษีอากรอีกเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 18 ชั่วโมง

8. การขอออกใบแทนใบอนุญาต  ในกรณีใบอนุญาตเป็นผู้สอบบัญชีภาษีอากรสูญหายหรือถูกทำลายหรือชำรุดเสียหายจนไม่สามารถใช้การได้ ให้ผู้สอบบัญชีภาษีอากรยื่นคำขอใบแทนใบอนุญาตต่ออธิบดีด้วยแบบคำขอทั่วไป (แบบ บภ.03) พร้อมชำระค่าธรรมเนียมฉบับละ 50 บาทและรูปถ่ายปกติ หน้าตรง แต่งกายสุภาพ ไม่สวมหมวก ไม่สวมแว่นตาดำ ขนาด 2 นิ้ว ถ่ายมาแล้ว   ไม่เกิน 6 เดือน จำนวน 3 รูป

9. การขอแก้ไขทะเบียน ผู้สอบบัญชีภาษีอากรที่มีการเปลี่ยนแปลงรายการทางทะเบียนตามที่ได้แจ้งไว้แล้ว กล่าวคือชื่อ ที่อยู่ และที่ตั้งสำนักงานให้แจ้งการเปลี่ยนแปลงต่ออธิบดีภายใน   1 เดือนนับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงด้วยแบบคำขอทั่วไป (แบบ บภ.03) พร้อมชำระค่าธรรมเนียมครั้งละ 50 บาท

 

แหล่งที่มา : http://www.rd.go.th

 

Transparency Report

Read our 2024 Transparency Report

transparency

เกี่ยวกับเรา

บริษัทรับตรวจสอบบัญชี ให้บริการด้วยนักวิชาอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบและการบริการให้ความเชื่อมั่นอื่น

Privacy Notice | Cookie Policy

etax