ปัจจุบันมาตรฐานการบัญชีได้เน้นถึงการใช้มูลค่ายุติธรรม (Fair Value) ในการวัดมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สิน เนื่องจากการใช้มูลค่ายุติธรรมจะให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของผู้ใช้งบการเงินมากกว่าการใช้ราคาทุนเดิม (Historical Cost) ดังนั้นเราควรต้องเตรียมศึกษาวิธีการวัดมูลค่ายุติธรรม เพื่อให้งบการเงินมีความโปร่งใสและผู้ใช้งบการเงินได้ข้อมูลที่ถูกต้อง
โดยมูลค่ายุติธรรม (Fair Value) หมายถึง ราคาที่จะได้รับจากการขายสินทรัพย์ หรือจ่ายเพื่อโอนหนี้สินในรายการที่เกิดขึ้นในสภาพปกติระหว่างผู้ร่วมตลาด (Market Participant) ณ วันที่มีการวัดมูลค่า
ซึ่งในการประเมินมูลค่ายุติธรรมนั้นมีเทคนิคการประเมินหลายวิธี โดยเทคนิคที่นิยมนำมาใช้ ได้แก่
1. วิธีราคาตลาด (Market Comparable Approach) เป็นวิธีซึ่งใช้ราคาและข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งเป็นข้อมูลของตลาดสำหรับสินทรัพย์หนี้สิน หรือกลุ่มของสินทรัพย์และหนี้สินอย่างเดียวกันหรือที่เปรียบเทียบได้ (ที่คล้ายคลึงกัน) เช่น การประเมินราคาอาคารสิ่งปลูกสร้าง เป็นต้น
2. วิธีราคาทุน (Cost Approach) เป็นวิธีซึ่งสะท้อนถึงจำนวนเงินที่ต้องใช้ในปัจจุบันเพื่อนำมาเปลี่ยนแทนกำลังการผลิตของสินทรัพย์ (โดยปกติหมายถึง ต้นทุนการเปลี่ยนแทนปัจจุบัน) เช่น การประเมินที่ดิน เป็นต้น
3. วิธีรายได้ (Income Approach) เป็นวิธีซึ่งแปลงมูลค่าในอนาคต (เช่น กระแสเงินสด หรือรายได้และค่าใช้จ่าย) มาเป็นมูลค่าปัจจุบัน (คือ การคิดลด) เมื่อใช้วิธีรายได้ การวัดมูลค่ายุติธรรมสะท้อนให้เห็นถึงความคาดหวังของตลาดในปัจจุบันเกี่ยวกับจำนวนเงินในอนาคตเหล่านั้น เช่น การประเมินทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ ได้แก่ พืชผล ไร่นา ห้างร้าน เป็นต้น
สำหรับข้อมูลที่นำมาใช้ในเทคนิคการประเมินมูลค่า มี 2 ประเภท ดังนี้
• ข้อมูลที่สามารถสังเกตได้ คือ ข้อมูลที่เกิดจากการใช้ข้อมูลตลาด เช่น ข้อมูลสาธารณะที่มีอยู่เกี่ยวกับเหตุการณ์หรือรายการที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งสะท้อนข้อสมมติที่ผู้ร่วมตลาดจะนำมาใช้เพื่อกำหนดราคาสินทรัพย์หรือหนี้สิน
• ข้อมูลที่ไม่สามารถสังเกตได้ คือ ข้อมูลซึ่งไม่มีข้อมูลตลาดปรากฏและถูกพัฒนาจากข้อมูลที่ดีที่สุดที่มีอยู่เกี่ยวกับข้อสมมติที่ ผู้ร่วมตลาดจะนำมาใช้ในการกำหนดราคาสินทรัพย์นั้นหรือหนี้สินนั้น โดยกิจการต้องใช้ข้อมูลที่สามารถสังเกตได้ที่มีความเกี่ยวข้องให้มากที่สุดและใช้ข้อมูลที่ไม่สามารถสังเกตได้ให้น้อยที่สุด และเพื่อให้การวัดมูลค่ายุติธรรมและการเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้อง มีความสม่ำเสมอและสามารถเปรียบเทียบได้มากขึ้น มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 13 (TFRS13) จึงกำหนดลำดับชั้นของมูลค่ายุติธรรมเป็น 3 ระดับ ตามประเภทของข้อมูลที่นำมาใช้ ดังนี้
• ข้อมูลระดับที่ 1 เป็นราคาเสนอซื้อขายในตลาดที่มีสภาพคล่อง โดยข้อมูลต้องนำมาใช้โดยไม่ต้องปรับปรุง ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่ายุติธรรมที่น่าเชื่อถือที่สุด ซึ่งถือเป็นมูลค่ายุติธรรมที่พร้อมด้วยหลักฐานที่น่าเชื่อถือที่สุด
• ข้อมูลระดับ 2 เป็นการอ้างอิงข้อมูลอื่นที่สังเกตได้ในตลาดหลัก*ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม นอกเหนือจากราคาเสนอซื้อขายซึ่งรวมอยู่ในข้อมูลระดับ 1
• ข้อมูลระดับ 3 เป็นข้อมูลที่ไม่สามารถสังเกตได้ในตลาดหลัก*
*ตลาดหลัก (Principal market) หมายถึง ตลาดที่มีปริมาณและระดับกิจกรรมของสินทรัพย์นั้นและหนี้สินนั้นมากที่สุด
แต่อย่างไรก็ตาม กิจการต้องพิจารณาใช้เทคนิคการประเมินมูลค่าที่เหมาะสมในสถานการณ์นั้น โดยอาจใช้เพียงวิธีเดียว หรือหลายวิธีขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสถานการณ์ โดยที่เทคนิคการประเมินมูลค่าที่นำมาใช้ในการวัดมูลค่ายุติธรรมนั้นจะต้องนำมาประยุกต์ใช้อย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้งบการเงินของท่านก็จะแสดงข้อมูลที่โปร่งใส ถูกต้องต่อผู้ใช้งบการเงิน และยังเป็นไปตามมาตรฐานรายงานทางการเงินอีกด้วย
ผู้เขียน คุณภรดา ชูเชิด บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด
ที่มา :
1. บทความ “มูลค่ายุติธรรม” กับงบการเงิน
2. คู่มืออธิบายมาตรฐานการรายงานทางการเงิน
3. บทความ “มาตรฐานการประเมินมูลค่า
” https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/119507
4. บทความ “เทคนิคประเมินราคาที่ดินด้วยวิธีเปรียบเทียบราคาตลาด”
https://www.trebs.ac.th/th/news_detail.php?nid=52