178 อาคารธรรมนิติ ชั้น 6-7 ซอยเพิ่มทรัพย์ (ประชาชื่น20) ถนนประชาชื่น แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร 10800

ข่าวสารวิชาชีพ

ไขข้อสงสัย Easy E-Receipt 2.0 (ปี 2568)



ไขข้อสงสัย Easy E-Receipt 2.0 (ปี 2568)

มาตรการ Easy E-Receipt 2.0 (ปี 2568) หรือที่เรียกเต็มๆ ว่า “ค่าซื้อสินค้าหรือบริการในประเทศ” ซึ่งเป็นการขยายผลจากมาตรการเดิม "Easy e-Receipt" เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศในปี 2568 ใช้เป็นค่าลดหย่อนได้สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2568 ตามจำนวนที่จ่ายจริง (รวม VAT แล้ว) แต่สูงสุดไม่เกิน 50,000 บาท เฉพาะการซื้อสินค้าหรือบริการที่มีใบกำกับภาษีและใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) หรือใบเสร็จรับเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) จากระบบของกรมสรรพากร

โดยวงเงินลดหย่อนแบ่งเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1. หักลดหย่อนตามที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax invoice) แบบเต็มรูปเป็นหลักฐานหรือผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยต้องมีใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เป็นหลักฐาน

2. หักลดหย่อนได้เพิ่มอีกตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 20,000 บาท สำหรับค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้ โดยต้องมีใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) แบบเต็มรูปหรือกรณีผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องมีใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Receipt) เป็นหลักฐาน

2.1 ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว

2.2 ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร

2.3 ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม ทั้งนี้ค่าซื้อสินค้าหรือบริการตามข้อ 1 จะเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการตามข้อ 2 ก็ได้

 

กรณีการจ่ายค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการดังต่อไปนี้

• ค่าซื้อหนังสือ หนังสือพิมพ์และนิตยสาร

• ค่าบริการหนังสือ หนังสือพิมพ์ และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)

• ค่าซื้อสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว

• ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนต่อกรมส่งเสริมการเกษตร

• ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการที่จ่ายให้แก่วิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้จดทะเบียนต่อสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม


ค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการนี้ไม่รวมถึง ค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ และยาสูบ ค่าซื้อน้ำมัน ก๊าซ และบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับเติมยานพาหนะ ค่าซื้อรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ ค่าน้ำประปา ไฟฟ้า และบริการสัญญาณโทรศัพท์และค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต ค่าบริการที่มีข้อตกลงการให้บริการและผู้รับบริการสามารถใช้บริการดังกล่าวนอกเหนือจากระยะเวลาของมาตรการ ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ค่าที่พักโรงแรม และค่าที่พักโฮมสเตย์ไทย หรือค่าที่พักในสถานที่พักที่ไม่เป็นโรงแรม


และสุดท้ายนี้อย่าลืมว่า e-Tax Invoice และ e-Receipt ต้องระบุชื่อ นามสกุล และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการด้วยนะคะ


จากมาตรการดังกล่าวข้างต้นมีเงื่อนไขและข้อกำหนดที่แตกต่างจากมาตรการเดิมค่อนข้างมาก ฉะนั้นเพื่อนๆ ควรศึกษาเงื่อนไขและข้อกำหนดให้ชัดเจนก่อนทำการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการกันด้วยนะคะ เพื่อจะได้ไม่เสียสิทธิประโยชน์ทางภาษีจากมาตรการดีๆ ของรัฐบาลค่ะ

 

 

ผู้เขียน : นางสาววัชราภร ธรรมผุย

บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด

Transparency Report

Read our 2024 Transparency Report

transparency

เกี่ยวกับเรา

บริษัทรับตรวจสอบบัญชี ให้บริการด้วยนักวิชาอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบและการบริการให้ความเชื่อมั่นอื่น

Privacy Notice | Cookie Policy

etax