พนักงานฝ่ายที่มีหน้าที่ตรวจนับสินค้าคงเหลือมักจะมีปัญหาในการตรวจนับอยู่2เรื่องใหญ่ๆ คือสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ กับสินค้าเกินจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบ แต่ปัญหาที่มักจะหาคำตอบยากลำบากเหลือเกิน เวลาถามใคร ๆ ก็คือ กรณีสินค้าเกินจากรายงาน สินค้าและวัตถุดิบ เพราะ ถ้าถามว่าสินค้าขาดจากรายงานสินค้าฯ ก็เห็นว่ามีคำตอบในใจเพราะกฎหมายมีข้อกำหนดอย่างชัดเจนว่าเป็นการ ขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) (จ) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้าสินค้าเกินจากรายงานสินค้าฯ ต้องเสียภาษีหรือไม่ มีความรับผิดอย่างไร แค่ไหน เห็นทีต้องคิดหนัก
เรื่องสินค้าเกินจากรายงานสินค้าฯถ้าดูตามกฎหมายประมวลรัษฎากรแล้วจะเห็นว่าไม่มีตรงไหนกำหนดว่าจะต้องเสียภาษีไม่ว่าจะเป็น ภาษีเงินได้นิติบุคคลหรือภาษีมูลค่าเพิ่ม เพียงแต่ว่าถ้าตรวจนับสินค้าแล้วปรากฏว่าสินค้าเกินจากรายงานสินค้าฯกฎหมายกำหนดความผิดทาง อาญาไว้ตามมาตรา 90 (14) แห่งประมวลรัษฎากร ว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสินค้าเกินจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท (เปรียบเทียบปรับเพียง 1,000) โดยมีอายุความเพียง 1 ปีนับจากวันกระทำความผิด
“ดูเหมือนโทษของสินค้าเกินจากรายงานสินค้าฯ ก็เพียงเล็กน้อย แต่ทำไมผู้ประกอบการ บางรายถึงวิตกกังวลเกี่ยวกับสินค้า เกินจากรายงานสินค้าฯ ซึ่งอาจจะเป็นเพราะกลัวในสิ่งเหล่านี้”
1. การตรวจนับสินค้าโดยปกติเมื่อตรวจนับแล้วปรากฎว่าสินค้าเกินจากรายงานสินค้า ก็แสดงว่า มีสินค้าที่อยู่ใน STOCK บางรายการหาที่มาไม่ได้ว่ามาจากไหน
2. สินค้าที่เกินบางครั้งเกิดจากการจัดการเอกสารไม่ดีพอ ทำให้การรับสินค้าเข้า STOCK บางรายการไม่ได้ลงบัญชีสินค้า
3. การมีสินค้าเกินอยู่ตลอดเวลาแสดงว่าระบบบริหารสินค้าไม่ดีพอ เพราะไม่สามารถควบคุม สินค้าที่เข้า STOCK ให้ตรงตามความเป็นจริงได้ ทำให้เจ้าพนักงานเกิดข้อสงสัยในการเสียภาษี
4. สินค้าที่เกินบางครั้งแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการ มีการผลิตสินค้าจากวัตถุดิบ หรือ ต้นกำเนิดของสินค้าหาที่มาไม่ได้ บ่งบอกถึงพฤติกรรมว่าผลิตสินค้าเพื่อขายบางส่วน แต่ไม่ประสงค์จะบันทึกรายได้ (เพราะต้นทางไม่มีหลักฐานเรื่องที่มาของสินค้า)
5. สินค้าเกินจากรายงานสินค้าฯ อาจจะพิสูจน์ลำบาก เนื่องจากลงสินค้าใน STOCK ไม่ตรง กับจำนวนสินค้าที่มีอยู่จริง เมื่อนำไปกระทบกับยอดต้นทุนในการผลิตสินค้า แล้วเปรียบเทียบกับรายจ่ายต้นทุนสินค้าทำให้เกิดข้อสงสัยว่าเสียภาษีไม่ครบ ทั้ง ๆ ที่สินค้า ที่ผลิตควรสัมพันธ์กับต้นทุนสินค้าที่มีอยู่จริง
ทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมาข้างต้น ถ้าเจ้าพนักงานประเมินเข้าไปตรวจนับสินค้าคงเหลือของผู้ประกอบการ ก็อาจจะสงสัยหรือตั้งข้อสังเกต เพื่อค้นหาความจริงว่า สินค้าที่เกินเพราะอะไร มีข้อน่าสงสัยหรือไม่ อันอาจนำไปสู่การกำหนดรายได้หรือรายรับที่ควรจะเป็นในการเสียภาษี ซึ่งเป็นอำนาจตามกฎหมายของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 65 ทวิ (4) และมาตรา 88/2 (4) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ถ้าผู้ประกอบการ มีหลักฐาน ชี้แจงที่มาที่ไปของสินค้าได้ เช่น บางครั้งอาจจะมีข้อผิดพลาดเรื่องเอกสาร หรือการรับสินค้าเข้า STOCK แต่ลืมลงรายการในรายงานสินค้าฯ หรือมี การกระทำที่เจ้าพนักงานประเมินเชื่อได้ว่า ไม่มีการกระทำใดที่ส่งผลให้เสียภาษีไม่ครบถ้วน ก็เป็นอันสบายใจได้ว่า จะถูกปรับทางอาญาอย่างเดียว ไม่เกิน 2,000 บาท ไม่มีความรับผิดอย่างอื่น
การป้องกันไม่ให้สินค้าเกินจากรายงานสินค้าฯ จะต้องทำอย่างไร ก็ตอบได้ว่า ผู้ประกอบการเองควรตรวจนับสินค้าอย่างสม่ำเสมอ จะได้ แก้ไขข้อผิดพลาดได้ เมื่อเจ้าพนักงานประเมินมาตรวจนับ จะได้ไม่ปรากฏ ว่าสินค้าเกินจากรายงาน แต่บางครั้งก็มีเหตุยากลำบากในการป้องกันจริง ๆ เช่น เคยมีผู้ประกอบการรายหนึ่งถามว่าสั่งซื้อสินค้ามาจากต่างประเทศ แต่เมื่อผู้ขายส่งสินค้าลงเรือจะใช้วิธีนับจำนวนสินค้าที่ส่งมาโดยการ ประมาณการเอาไม่ได้นับทั้งหมด ปรากฏว่าสินค้ามาถึงประเทศไทยมัก จะมีจำนวนเกินกว่าที่ปรากฎในเอกสาร เวลาลงรายงานสินค้าตามเอกสาร นำเข้าสินค้า จะปรากฏว่าสินค้าที่รับจริงมากกว่าสินค้าตามเอกสาร ส่ง ผลให้สินค้าเกินจากรายงานสินค้าฯ มาตลอด มีคำถามของผู้ประกอบการ รายนี้ว่าต้องทำอย่างไร คำตอบก็คือ ควรแจ้งให้ผู้ขายต่างประเทศทราบ ถึงปัญหานี้โดยเร็วเพื่อจะได้ช่วยแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นทาง แต่ถ้าถูกเจ้า พนักงานเข้าไปตรวจ ก็ควรบอกเล่าความเป็นจริง ส่วนผลจะเป็นอย่างไรก็ แล้วแต่การพิจารณา ถ้าเจ้าพนักงานเห็นตามความจริงที่ชี้แจงภาระภาษี สรรพากรย่อมไม่มีอะไร นอกจากโทษทางอาญาเพียงเล็กน้อย แต่ของนำ เข้าที่เสียภาษีศุลกากรไม่ครบถ้วนก็น่าจะมีความผิดตามกฎหมายศุลกากร สุดท้ายนี้ผู้ประกอบการ บางรายอาจมีข้อสงสัยถ้าการตรวจนับ สินค้าปรากฏว่ามีสินค้าบางรายการเกินจากบัญชีคุมสินค้าแต่บางรายการ ขาดจากบัญชีคุมสินค้า กรณีนี้จะทำการหักกลบลบกันได้หรือไม่ ในทางภาษี ผู้ประกอบการ ไม่อาจปฏิบัติเช่นนั้นเพื่อให้พ้นความรับผิดในการที่สินค้า ขาดจากรายงานสินค้า สำหรับรายการที่ขาดจากรายงานได้ และ ความรับผิดในการที่สินค้าเกินจากรายงานสินค้าฯ สำหรับรายการที่เกิน จากรายงานได้ ทั้งนี้ความผิดเกี่ยวกับสินค้าเกินจากรายงานสินค้าฯ หรือ ขาดจากรายงานสินค้าฯ จะเกิดขึ้นเมื่อมีการตรวจพบไม่ว่าจะเป็น การตรวจนับโดยผู้ประกอบการ เองหรือโดยเจ้าพนักงานประเมินก็ตาม
ที่มา : สภาวิชาชีพบัญชี