"ประยุทธ์" สั่งรื้อประมวลรัษฎากร "ภาษีสรรพากร" ทั้งฉบับให้เสร็จในรัฐบาลนี้ รองปลัดคลังรับลูกประสาน สนช. ตั้ง กมธ.วิสามัญยกร่างกฎหมายหลังสงกรานต์ ลั่น 4 เดือนเสร็จเสนอ ครม. ก.ย.นี้ เพิ่มประสิทธิภาพไล่ต้อนภาษี-ปิดรูรั่วทุกประตู เติมหมวดภาษีธุรกิจอีคอมเมิร์ซคุมถึง "กูเกิล-เฟซบุ๊ก" ชี้วางแผนไล่ล่าผ่านช่องทางการชำระเงิน พร้อมออกเกณฑ์ป้องกันการถ่ายโอนกำไรของบริษัทข้ามชาติ ยันไม่กระทบผู้เสียภาษีถูกต้อง
ยกเครื่อง กม.กรมสรรพากร
นายประภาศ คงเอียด รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านรายได้ เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ดำเนินการปฏิรูปประมวลรัษฎากร ถือเป็น
การยกเครื่องกฎหมายภาษีสรรพากรทั้งฉบับ เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันผ่านการแก้ไขแบบปะผุมาตลอด โดยกำชับให้ดำเนินการให้เสร็จภายในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งตนได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องนี้ และได้หารือร่วมกับทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้วเห็นว่า ควรจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาดำเนินการยกร่างกฎหมายแก้ไขประมวลรัษฎากรนี้ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลายกร่างกฎหมายประมาณ 4 เดือน คาดเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ในเดือน ก.ย. 2560
"นายกฯสั่งตั้งแต่วันที่ 14 มี.ค. ที่มีเรื่องหุ้นชินคอร์ปเสนอเข้าไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และมาย้ำอีกรอบ ในวันที่ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเข้า ครม. และ รมว.คลังก็มาถ่ายทอดคำสั่ง และสั่งการให้ผมไปประสานกับ สนช. ซึ่งผมก็ประสานกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. และนายสมชาย แสวงการสนช. โดยเราดูกันแล้วว่าวิธีที่ดีสุดก็คือ ให้ทาง
สนช.ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาศึกษาและร่างกฎหมายทั้งฉบับ โดยจะตั้งขึ้นในช่วงหลังสงกรานต์นี้" นายประภาศกล่าว
ทั้งนี้ การยกร่างกฎหมายโดยตั้ง กมธ. จะมีหลาย ๆ ฝ่ายมาร่วมกัน ทั้งกฤษฎีกา กรมสรรพากร สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตลอดจนภาควิชาการ ซึ่งจะทำให้กระบวนการพิจารณากฎหมายทำได้เร็วขึ้น
จัดระบบ-ปิดรูรั่วทุกประตู
นายประภาศกล่าวว่าประมวลรัษฎากรเป็นกฎหมายที่ค่อนข้างเก่าแก่ แต่ที่ผ่านมามีการแก้ไขแบบปะผุ ทำให้การจัดหมวดหมู่ต่าง ๆ ดูวุ่นวาย ไม่เป็นลำดับ และไม่ทันสมัย ซึ่งวัตถุประสงค์การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ก็คือ 1) ปรับปรุงให้ทันสมัย 2) เพิ่มเติมเรื่องใหม่ ๆ ให้ชัดเจน เช่น การเพิ่มหมวดว่าด้วยการเก็บภาษีอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งโซเชียลมีเดียข้ามชาติ การเพิ่มหมวดว่าด้วยการป้องกันการถ่ายโอนกำไรของบริษัทข้ามชาติ (Transfer Pricing) เป็นต้น และ 3) แก้ไขให้สอดคล้องกับกฎหมายภาษีอื่น ๆ
ประเด็นความทันสมัยของกฎหมายนั้นนายประภาศกล่าวว่า จากที่ได้ศึกษาประมวลรัษฎากรมาอย่างละเอียด พบว่าประมวลรัษฎากรปัจจุบันราว 85% ถือว่าทันสมัยอยู่แล้ว มีเพียง 15% ที่ล้าสมัยและต้องแก้ไข สำหรับประเด็นที่ล้าสมัย ไม่ใช่เรื่องความครอบคลุมธุรกรรม แต่เป็นเรื่องระบบการประเมิน การอุทธรณ์ อายุความ และการควบคุมกำกับ
"เรื่องที่เป็นโครงสร้างหลักอย่างผู้มีหน้าที่เสียภาษี ฐานภาษีอะไรต่าง ๆ ไม่ได้ล้าสมัยไม่ต้องปรับแก้ แต่ในแง่กระบวนการ อย่างการออกหมายเรียกตรวจสอบ การประเมิน การอุทธรณ์ล้าสมัยมาก รวมถึงคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็ควรปรับแก้ เพราะปัจจุบันที่มีอธิบดีกรมการปกครองเป็นกรรมการด้วย ก็ควรยกเลิกแล้วให้กฤษฎีกา ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์ทางด้านกฎหมายภาษีเข้ามาร่วมมากขึ้น เหมือนกับของกรมสรรพสามิตกับกรมศุลกากร นอกจากนี้ยังมีเรื่องอายุความของคดีภาษีที่ไม่สอดคล้องกันก็ต้องปรับแก้" นายประภาศกล่าว
นอกจากนี้ ปัจจุบันได้มีการแก้ไขกฎหมายสรรพสามิตและกฎหมายศุลกากรผ่าน สนช.ไปหมดแล้ว จึงจำเป็นต้องปฏิรูปประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นภาษีตัวใหญ่ที่สุดของประเทศด้วย โดยต้องแก้ไขให้มีความสอดคล้องกันทั้ง 3 ภาษี อย่างเช่น คดีภาษีแวตนำเข้าของกรมศุลกากรกำหนดอายุความ 10 ปี ส่วนกรมสรรพสามิตกำหนดอายุความ 5 ปี ส่วนคดีภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อายุความ 2 ปีขยายได้เป็น 5 ปี
"กฎหมายฉบับปัจจุบันจริง ๆ มีช่องโหว่น้อยมาก แต่ขึ้นกับการตีความ ดังนั้นเราก็ต้องเขียนกฎหมายให้ชัดไปเลย ไม่ต้องตีความกันอีก อย่างเช่น การตีความที่ว่า เงินถูกยึดทรัพย์ไปแล้ว จะต้องเสียภาษีอีกหรือเปล่า จริง ๆ แล้วอันนี้เป็นเรื่องพื้นฐาน
ทางภาษีอยู่แล้ว ว่าเงินได้ที่ได้มา แม้เงินได้นั้นจะหายไปหมดก็ต้องเสียภาษี เพราะต่างกรรมต่างวาระกัน" รองปลัดกระทรวงการคลังกล่าวและว่ารวมถึงการปรับปรุงเรื่องการเปิดเผยข้อมูล เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่น ๆ ได้ เพราะปัจจุบันกรมสรรพากรจะไม่เปิดเผยข้อมูลการเสียภาษี โดยอ้างมาตรา 10 แม้ว่าข้อมูลนั้นจะใช้ในทางราชการระหว่าง 3 กรมภาษีก็เปิดเผยไม่ได้ ทำให้มีปัญหาในการทำงานบูรณาการ
คุมอีคอมเมิร์ซ-กูเกิล-เฟซบุ๊ก
นายประภาศกล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการจัดเก็บภาษีธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาร่วมกับกรมสรรพากร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) นั้น เนื่องจากจะมีการยกร่างประมวลรัษฎากรใหม่ ดังนั้นจึงจะมีการเขียนหมวดภาษีอีคอมเมิร์ซขึ้นมาเฉพาะ โดยจะระบุให้ชัดว่า ใครที่จะต้องเข้ามาอยู่ในระบบบ้าง และผู้ขายต้องลงทะเบียนกับกรมสรรพากรอย่างไร
อย่างไรก็ดี การเก็บภาษีธุรกิจอีคอมเมิร์ซสามารถดำเนินการได้ภายใต้กฎหมายปัจจุบันอยู่แล้ว เพราะกฎหมายประมวลรัษฎากรปัจจุบันก็ครอบคลุมหมด ทั้งการซื้อขายสินค้าภายในประเทศและระหว่างประเทศ ทั้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม เพียงแต่ประเด็นอยู่ที่จะติดตามและควบคุมกำกับอย่างไร โดยเรื่องนี้กรมสรรพากรจะต้องมีหน่วยงานที่ติดตาม มอนิเตอร์เรื่องการซื้อขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ต เรื่องอีคอมเมิร์ซโดยตรง ซึ่งน่าจะตั้งขึ้นมาเร็ว ๆ นี้
รองปลัดกระทรวงการคลังกล่าวว่า เท่าที่หารือแนวทางที่จะทำได้ก็คือ จะจัดเก็บภาษีโดยตรวจสอบที่ช่องทางการชำระเงินและกำหนดให้ผู้จ่ายเงินซื้อสินค้าเป็นผู้นำส่งภาษีให้กรมสรรพากรแนวทางในการติดตามและควบคุมกำกับ ต้องเน้นใช้ระบบไอทีเป็นหลัก ถ้าระบบอีเพย์เมนต์เรียบร้อยสมบูรณ์ก็จะทำให้สามารถตรวจสอบติดตามได้ง่าย
แต่ที่เป็นปัญหามากกว่าคือการจัดเก็บภาษีจากการส่งเงินค่าโฆษณาไปให้ผู้ประกอบการที่อยู่ต่างประเทศโดยไม่มีการเสียภาษีให้แก่ประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก กูเกิล ยูทูบหรืออื่น ๆ ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นปัญหาของทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม นายประภาศย้ำว่า เรื่องนี้น่าจะใช้วิธีการผ่านช่องทางการชำระเงินได้ โดยเรื่องนี้ต้องประสานกับ ธปท. คือกรณีบริษัทใดมีการชำระเงินไปต่างประเทศก็ให้หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ก่อน เพราะเราไม่สามารถไปบังคับกับบริษัทที่จดทะเบียนต่างชาติได้
สกัดบริษัทต่างชาติถ่ายโอนกำไร
นายประภาศกล่าวว่านอกจากนี้ ยังจะต้องเพิ่มบทบัญญัติว่าด้วย Transfer Pricing ด้วย เพื่อป้องกันการถ่ายโอนกำไรของบริษัทข้ามชาติ รวมถึงมาตรการป้องกันการตั้งทุนต่ำ (Thin Capitalization) หรือการถ่ายโอนกำไรไปยังบริษัทแม่ต่างประเทศในรูปของดอกเบี้ย ในลักษณะของการกู้เงิน
หรือขายหุ้นกู้ระหว่างบริษัทแม่และลูก ซึ่งที่ผ่านมาเปิดกว้างแต่กฎหมายใหม่นี้น่าจะมีการกำหนดเพดานหรือสัดส่วนหนี้ต่อทุน เพราะเรื่องนี้กระทบกับรายได้ภาษีของไทย เนื่องจากตามปกติบริษัทลูกจ่ายเงินปันผลไปให้บริษัทแม่ แต่กรณีนี้จะจ่ายในรูปดอกเบี้ยหุ้นกู้ ซึ่งสามารถหักรายจ่ายในประเทศได้
"การจ่ายเป็นดอกเบี้ยหักเป็นรายจ่ายได้ ดังนั้นเราต้องมีเกณฑ์กำหนดว่าสัดส่วนหนี้ต่อทุนเป็นเท่าไหร่ ก็เหมือนกับตั้งเพดานดอกเบี้ยไว้ เช่น ถ้าคุณจ่ายดอกเบี้ยให้บริษัทแม่ต่างประเทศปีละ 100 ล้านบาท แต่เราตั้งเพดานให้หักรายจ่ายได้ 50% คุณจะส่งไป 100 ล้านบาทก็ไม่เป็นไร แต่คุณจะหักรายจ่ายได้แค่ 50 ล้านบาท"
ขณะที่นายประภาศยืนยันว่า การปฏิรูปประมวลรัษฎากรครั้งนี้ จะไม่ส่งผลกระทบให้ผู้เสียภาษีถูกต้องมีภาระภาษีเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เพราะหน้าที่ของผู้เสียภาษียังเป็นไปเหมือนเดิม แต่กฎหมายจะจัดระบบในการควบคุมกำกับการเสียภาษีของกรมสรรพากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งที่จะกระทบคือทำให้เลี่ยงภาษีได้ยากขึ้นแบบนั้นมากกว่า
ที่มา : ประชาติธุรกิจ