เลือกกองทุนให้อยู่หมัด ด้วย 4 วิธีประหยัดค่าธรรมเนียม
ช้อนย่อมคู่กับส้อมฉันใด กองทุนรวมก็ย่อมคู่กับค่าธรรมเนียมฉันนั้น (แฮ่)
เนื่องจากกองทุนรวมตั้งอยู่บนแนวคิดที่นำเงินลงทุนของเราไปฝากให้ผู้จัดการกองทุนซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญช่วยลงทุนในสินทรัพย์อื่นๆ ต่อไปให้ ดังนั้น กองทุนรวมย่อมมีค่าธรรมเนียมเป็นธรรมดา หรือพูดอีกนัยหนึ่งว่าค่าแรงผู้เชี่ยวชาญนั่นแหละ
แต่กองทุนรวมมีหลายแง่มุมมากกว่านั้น
ค่าธรรมเนียมของกองทุนรวมแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักด้วยกัน คือ ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุนโดยตรง และค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากทรัพย์สินของกองทุนรวม
ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุนโดยตรง คือ ค่าธรรมเนียมที่เก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุนโดยตรง เมื่อทำการซื้อหรือขายหน่วยกองทุนรวม ซึ่งค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะเกิดขึ้นเฉพาะตอนที่ซื้อขายกองทุนรวมเท่านั้น หากซื้อขายบ่อย ค่าธรรมเนียมตรงส่วนนี้จะมาก เนื่องจากต้องเสียหลายครั้ง แต่ถ้าซื้อขายน้อย ค่าธรรมเนียมตรงส่วนนี้จะน้อย เนื่องจากเสียน้อยครั้ง
ค่าธรรมเนียมประเภทนี้ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุน หรือ front-end fee ซึ่งเป็นค่าธรรมเนียมที่นักลงทุนต้องจ่ายเมื่อซื้อหน่วยลงทุนจากบลจ. (ชื่อว่าค่าธรรมเนียมการขายเพราะมองจากมุมของบลจ.) และค่าธรรมเนียมการซื้อคืนหน่วยลงทุน หรือ back-end fee (ชื่อตั้งจากมุมมองของบลจ.เช่นกัน)
นอกจากนี้ยังมีค่าธรรมเนียมอื่นที่เกี่ยวข้องแต่พบไม่บ่อยนัก เช่น ค่าธรรมเนียมในการสับเปลี่ยนกองทุน ซึ่งมีหลักการคิดค่าธรรมเนียมเหมือนการขายกองทุนเก่าและไปซื้อกองทุนใหม่ เพียงแต่กองทุนรวมบางประเภทนักลงทุนไม่สามารถซื้อและขายได้ เนื่องจากติดข้อกำหนดทางกฎหมายซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือค่าธรรมเนียมพิเศษที่เกิดจากการทำผิดเงื่อนไขของกองทุนรวม เช่น ถือกองทุนรวมเป็นเวลาสั้นกว่าบลจ.กำหนด ค่าธรรมเนียมซื้อคืนหน่วยลงทุนจะสูงมาก ซึ่งอาจจะมองกึ่งๆ ได้ว่าเป็นค่าธรรมเนียมพิเศษนั่นเอง
ค่าธรรมเนียมแบบนี้จะคำนวณให้ในราคาเสนอซื้อเสนอขายของกองทุนรวมอยู่แล้ว ดังนั้นจะสังเกตได้ว่าเวลาที่กองทุนรวมประกาศราคาซื้อและขาย ราคาซื้อและขายจะต่างกันเนื่องจากค่าธรรมเนียมในการซื้อและขายนั่นเอง
ส่วนค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากทรัพย์สินของกองทุนรวม คือ ค่าธรรมเนียมที่หักออกไปจากทรัพย์สินของกองทุนรวมแล้ว และจะไม่ได้แสดงให้เห็นเป็นยอดเงินที่จ่ายไปเหมือนค่าธรรมเนียมซื้อและค่าธรรมเนียมขาย เพียงแต่จะหักไปโดยตรงเลย ค่าธรรมเนียมชนิดนี้จะไปทำให้ผลตอบแทนของกองทุนรวมต่ำกว่าผลตอบแทนจริงของทรัพย์สิน เนื่องจากกำไรส่วนหนึ่งต้องนำไปจ่ายค่าธรรมเนียมนี้
ค่าธรรมเนียมประเภทนี้ ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการจัดการ (management fee) หรือค่าแรงของผู้บริหารกองทุน ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ (trustee fee) หรือค่าตอบแทนสำหรับบริษัทที่จะมาตรวจสอบการทำงานของกองทุนให้โปร่งใส รวมไปถึงค่าธรรมเนียมอื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียมซื้อขายหลักทรัพย์ เป็นต้น
สังเกตว่าค่าธรรมเนียมประเภทนี้จะบอกอัตราเป็นรายปี ซึ่งในทางปฏิบัติค่าธรรมเนียมจะถูกกระจายออกเป็นรายวัน เพื่อให้ต้นทุนของการลงทุนมีความเท่าเทียมกันหมด ไม่ได้มาสูงเฉพาะตอนปลายปีที่จะคิดค่าธรรมเนียมเท่านั้น ดังนั้น ค่าธรรมเนียมประเภทนี้จะคงที่ไม่ว่าจะถือหน่วยลงทุนนานเท่าไหร่ ตราบเท่าที่อัตราการเก็บยังคงคงที่อยู่เหมือนเดิม
แล้วซื้อกองทุนรวมอย่างไรให้ประหยัดค่าธรรมเนียมที่สุด?
หลักของลงทุนศาสตร์มีง่ายๆ 4 ข้อตามนี้
1 ซื้อกองทุนรวมที่มีค่าธรรมเนียมต่ำเมื่อเทียบกับกองทุนรวมในกลุ่มเดียวกัน
วิธีง่ายที่สุดคือการเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมของกองทุนรวมที่สนใจกับกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนคล้ายกัน เช่น เปรียบเทียบกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นกับกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น เปรียบเทียบกองทุนรวมหุ้นเล็กและกลางกับกองทุนรวมหุ้นเล็กและกลาง
ข้อสำคัญคือกองทุนรวมที่ลงทุนในสินทรัพย์คนละแบบ ย่อมมีค่าธรรมเนียมต่างกันเป็นธรรมชาติ เพราะสินทรัพย์แต่ละชนิดมีความยากง่ายไม่เหมือนกัน ดังนั้นค่าธรรมเนียมกองทุนหุ้นย่อมสูงกว่าค่าธรรมเนียมกองทุนตราสารหนี้เป็นธรรมดา รวมไปถึงกองทุนรวมในสินทรัพย์เดียวกันก็ยังมีค่าธรรมเนียมแตกต่างกันไปตามความยากง่าย เช่น ค่าธรรมเนียมกองทุนรวมหุ้นเชิงรุก (ผู้จัดการเลือกหุ้นเอง) ย่อมแพงกว่ากองทุนรวมหุ้นเชิงรับ (ผู้จัดการซื้อตามดัชนี) เพราะการเลือกหุ้นเองย่อมยากกว่าการซื้อหุ้นตามรายชื่อดัชนีอยู่แล้ว
ดังนั้น พยายามเลือกเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมจากกองทุนรวมที่คล้ายกันมากที่สุด เพื่อป้องกันการเลือกซื้อผิด จากการเข้าใจนโยบายกองทุนผิดได้
2 ซื้อกองทุนรวมที่มีค่าธรรมเนียมต่ำเมื่อเทียบกับผลตอบแทน
ถึงแม้ว่ากองทุนรวมที่มีค่าธรรมเนียมของกองทุนรวมแพงกว่ากองทุนอื่นที่มีนโยบายการลงทุนคล้ายกัน แต่ถ้ากองทุนนั้นสามารถสร้างผลตอบแทนได้อย่างโดดเด่นจนชนะผลตอบแทนของกองใกล้เคียงแล้ว กองทุนนั้นย่อมมีความน่าสนใจในการลงทุนมากกว่า
สิ่งที่ทำได้อาจเลือกใช้วิธีการนำผลตอบแทนย้อนหลังประมาณ 5 ปีมาหักลบออกด้วยค่าธรรมเนียมซื้อขายเฉลี่ยตามจำนวนปี เช่น ค่าธรรมเนียมซื้อขาย 1.0% เฉลี่ย 5 ปี เหลือค่าธรรมเนียมปีละ 0.2% และนำไปหักออกจากผลตอบแทน ก่อนจะนำมาเปรียบเทียบกันในแต่ละกอง อย่าลืมว่าค่าธรรมเนียมแบบเรียกเก็บจากทรัพย์สินโดยตรงนั้นได้หักออกไปจากผลตอบแทนแล้ว ไม่จำเป็นต้องนำมาคิดอีก
3 ถือกองทุนรวมให้ยาวที่สุด
การซื้อขายกองทุนรวมที่บ่อยเกินไป ทำให้ผู้ลงทุนต้องเสียค่าธรรมเนียมซื้อขายบ่อยครั้ง ยิ่งถ้าถือต่ำกว่ารอบปี ค่าธรรมเนียมนี้อาจสูงเพิ่มมากขึ้นจนน่าตกใจ เช่น ค่าธรรมเนียมซื้อขาย 1.0% ผู้ลงทุนถือกองทุน 1 เดือน คิดเฉลี่ยเป็นค่าธรรมเนียมซื้อขายถึง 12.0% ต่อปี ดังนั้น ถือยาว (ตราบเท่าที่กองทุนรวมยังดีอยู่) จะช่วยลดค่าธรรมเนียมได้มาก
4 ซื้อกองทุนตอนมีโปรโมชัน
หลายคนอาจไม่ทราบว่าการซื้อขายกองทุนรวมนั้นมีโปรโมชันด้วย เช่น หลายกองทุนมักจะจัดโปรโมชัน LTF และ RMF ในช่วงปลายปี เช่น ซื้อกองทุนแล้วได้บัตรกำนัล ซื้อกองทุนแล้วได้เงินคืน ซื้อกองทุนแล้วได้หน่วยลงทุนตลาดเงินเพิ่ม ซึ่งถ้าหากเราจะซื้อกองทุนรวมนี้อยู่แล้ว การหาซื้อแบบมีโปรโมชันก็ถือได้ว่าสร้างผลตอบแทนได้เพิ่ม
อีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจคือการซื้อกองทุนรวม IPO หรือกองทุนรวมที่เปิดตัวใหม่ กองทุนเหล่านี้มักจะลดค่าธรรมเนียมซื้อขายเพื่อเป็นแรงจูงใจในการระดมทุน
โดยปรกติจะไม่แนะนำให้ซื้อกองทุนรวมเปิดตัวใหม่ เพราะยังมองไม่เห็นลักษณะการจัดการหรือความสามารถของกองทุน แต่ถ้ากองทุนนั้นมีลักษณะบางอย่างที่มั่นใจได้ว่าจะเป็นกองทุนรวมที่ดีหรือคาดการณ์ได้ เช่น กองทุนเดิมมีผู้บริหารแบบเดิมนโยบายเดิม แต่มาเปิดกองทุนใหม่แยกเป็น LTF หรือกองทุนที่มีนโยบายการซื้อเลียนแบบดัชนี ซึ่งแบบนี้สามารถคาดเดาผลประกอบการกองทุนรวมได้จากกองทุนเก่า หรือดัชนีอ้างอิง
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด
การลงทุนในกองทุนรวมโดยสนใจแต่ประหยัดค่าธรรมเนียมนั้นเป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง เพราะนักลงทุนควรพิจารณานโยบายการลงทุน ผลตอบแทนคาดหวังจากการลงทุน และภาพรวมด้านอื่นประกอบด้วย เพราะค่าธรรมเนียมที่ต่ำไม่ได้การันตีว่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีได้ เพียงแต่เป็นส่วนหนึ่งที่จะยกระดับผลตอบแทนให้มากขึ้นจากการประหยัดค่าใช้จ่ายนั่นเอง
ดังนั้น การประหยัดค่าธรรมเนียมคือส่วนหนึ่งของการเลือกกองทุนรวม ไม่ใช่ทั้งหมดของการเลือกกองทุนรวม
ที่มา : AOMMONEY