178 อาคารธรรมนิติ ชั้น 6-7 ซอยเพิ่มทรัพย์ (ประชาชื่น20) ถนนประชาชื่น แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร 10800

ข่าวสารทั่วไป

'ผู้สอบบัญชี'ยอมรับชะตากรรม บจ.ซุกงบเน่ายากตรวจสอบ

 

 

รายงานผู้สอบบัญชีจัดเป็นข้อมูลสำคัญในงบการเงิน เป็นการรายงานการความถูกต้องว่างบการเงินนั้นได้รับการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาตและเป็นบุคคลอิสระต่อบริษัท ก่อนเผยแพร่สู่สาธารณะ

  เป็นข้อมูลสำคัญที่นักลงทุนและผู้ถือหุ้นต้องอ่าน เพราะอาจจะมีการแสดงความคิดเห็น การตั้งข้อสังเกต ต่องบการเงินนั้นๆ ว่ามีความผิดปกติที่จะมีผลกระทบต่อกิจการหรือไม่ 

  ที่กล่าวไปข้างต้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยปกติอยู่เสมอมา

  แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การตรวจสอบไม่พบความผิดปกติในบริษัทที่ผิดปกติ ซึ่งเกิดขึ้นในหลายบริษัทตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา จนนำไปสู่การตั้งคำถามมากมายจากนักลงทุนและผู้ถือหุ้นว่าเป็นความบกพร่องของผู้สอบบัญชีหรือไม่ 

 

*** พบ 3 บริษัทมีปัญหาหนี้สิน แต่ผู้สอบบัญชีตรวจไม่พบ

  "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจข้อมูลบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ตั้งแต่ต้นปีพบว่า มี 3 บริษัทที่ผ่านการรับรองงบการเงินจากผู้สอบบัญชี แต่มีการตรวจสอบพบความผิดปกติในภายหลัง ดังนี้

  1.บมจ.เค.ซี. พร็อพเพอร์ตี้ (KC) เป็นกรณีผิดชำระหนี้ตั๋วบีอีเมื่อต้นปี โดยบริษัทชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่ามีหนี้สินตั๋วบีอี 5 ฉบับรวม 350 ล้านบาท ออกช่วงไตรมาส 4/58 แต่ไม่ปรากฏหนี้ดังกล่าวในงบการเงินปี 58 และรายงานผู้สอบบัญชีก็ไม่ได้ตั้งข้อสังเกตหรือแสดงความเห็นใดๆต่อเรื่องนี้ ซึ่งจากการตรวจสอบรายงานผู้สอบบัญชีปี 58 ของ KC มีเพียงการแสดงความเห็นเรื่องการซื้อขายที่ดินเท่านั้น

  จนเกิดเหตุการณ์ผิดชำระหนี้ จึงถูกตรวจสอบ และถูก จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สั่งให้มีผู้สอบบัญชีตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit)โดยผู้สอบบัญชีของ KC คือ บริษัท ซี ดับเบิ้ลยู ดับเบิ้ลยู พี จำกัด

  2.บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) รายนี้ก็เป็นกรณีขาดสภาพคล่องและผิดนัดชำระหนี้เช่นเดียวกัน แต่เป็นหนี้จำนวนมากทั้งจากสถาบันการเงิน, ตั๋วบีอี รวมถึงหุ้นกู้ด้วย รวมกว่า 7,000 ล้านบาท นั่นเป็นก้อนแรกที่ทำให้เรื่องแดง ก่อนมาลงเอยแบบคาราคาซังในปัจจุบันด้วยมูลหนี้ที่งอกเพิ่มมาใหม่รวมแล้วสูงถึงกว่า 4.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งรายงานผู้สอบบัญชีก่อนหน้านี้ไม่เคยมีการให้หมายเหตุหรือข้อสังเกตใดๆเกี่ยวกับหนี้สินที่บริษัทมีอยู่

  โดยล่าสุด "รพี สุจริตกุล" เลขาธิการ ก.ล.ต. ต้องออกมาตั้งคำถามและขอการชี้แจงจาก บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส จำกัด ผู้สอบบัญชีของ EARTH ว่าเหตุใดผู้ตรวจบัญชีถึงไม่ส่งสัญญาณความผิดปกติในงบการเงินล่วงหน้าของบริษัท

  ซึ่ง EARTH ก็ถูก ก.ล.ต.สั่งให้ทำ Special audit ด้วยเช่นกัน

  3.บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ (IFEC) อีก 1 มหากาพย์ของหุ้นไทยปีนี้ ที่เริ่มจากปัญหาความไม่ชอบมาพากลธุรกรรมการเข้าซื้อโรงแรมดาราเทวี ตามด้วยการผิดชำระหนี้ตั๋วบีอี จนมาถึงปัญหาผู้บริหารขัดแย้งกันภายใน จนวันนี้ก็ยังไม่จบสิ้น ซึ่งจากการตรวจสอบรายงานผู้สอบบัญชีจนถึงการรายงานงบการเงินครั้งล่าสุด (ไตรมาส 3/59) ไม่มีการตั้งข้อสังเกตหรือแนบหมายเหตุงบการเงินใดๆ เกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว และผ่านการรับรองงบฯมาได้ตามปกติ ซึ่งผู้สอบบัญชีของ IFEC คือ บริษัท กรินทร์ ออดิท จำกัด

 

*** วงการบัญชีแจงไม่สามารถตรวจได้ถูกต้อง 100%

  ดร.ธีรชัย อรุณเรื่องศิริเลิศ กรรมการ สภาวิชาชีพบัญชี ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุว่า การทำรายงานผู้สอบบัญชีไม่สามารถตรวจสอบความถูกต้องของงบการเงินได้ 100% เป็นการรายงานให้ทราบว่าจากการตรวจสอบโดยมาตรฐาน ซึ่งหากมีข้อมูลที่บริษัทตั้งใจปกปิดก็ไม่สามารถตรวจสอบได้

  "ประเด็นนี้ขึ้นอยู่กับมุมมอง แต่โดยทั่วไปแล้วรายงานของผู้สอบบัญชี ไม่สามารถการันตีได้ว่างบถูกต้อง 100% เป็นเหมือนกันทั่วโลก เพราะใช้มาตรฐานเดียวกัน

  การที่รายงานว่าถูกต้องตามควร หมายถึงการรายงานตามมาตรฐานทางบัญชีที่กำหนดมาแล้วเท่านั้น ซึ่งก็ตรวจสอบจากข้อมูลที่ปรากฏ ไม่ควรตีความว่าการรับรองงบการเงินนี้ถูกต้องทั้งหมดแล้วเพราะต้องไม่ลืมว่าผู้สอบบัญชีเป็นบุคคลภายนอกซึ่งเป็นอิสระต่อบริษัท 

  ซึ่งหากไม่มีข้อมูลในเชิงลึกหรือผู้บริหารไม่เปิดเผยก็ยากที่จะตรวจสอบ เว้นแต่จะโชคดีข้อมูลหรือตัวเลขผิดปกติที่มีนัยสำคัญจึงจะมีการสอบถามเพิ่มเติม โดยหากไม่ได้รับคำชี้แจงที่เหมาะสม ก็จะทำเป็นหมายเหตุหรือข้อสังเกตระบุไว้ในรายงานผู้สอบบัญชี"

  ขณะที่ผู้สอบบัญชีรายหนึ่งเสริมว่า ผู้สอบบัญชีมีหน้าที่ตรวจสอบ ไม่ได้มีหน้าที่ทำให้งบการเงินถูกต้อง การรายงานก็อิงตามหลักการและมาตรฐานการสอบบัญชี

  "การสอบบัญชีโดยทั่วไปจะอิงตามหลักฐานและมาตรฐานการสอบบัญชี จะมโนเองไม่ได้ หากมีข้อสงสัยก็จะสอบถามบริษัท ซึ่งก็ต้องแล้วแต่ว่าบริษัทจะให้ความร่วมมือมากน้อยแค่ไหน หากยังมีข้อสงสัยก็จะต้องเตือนไว้ในรายงาน เหมือนกรณีบริษัทลิสซิ่งแห่งหนึ่งไม่นานมานี้ 

  อย่างไรก็แล้วแต่ก็ต้องรับรองว่างบถูกต้องตามควร เพราะบริษัทไม่ได้ทำผิดหลักการหรือมาตรฐานทางบัญชี"

 

*** ชี้สอบยากหากผู้บริหารจงใจซุกงบเน่า

  ด้านผู้สอบบัญชีอีกราย ให้ความเห็นว่า "ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้มาจากผู้บริหารจงใจซุกซ่อนงบเน่าไว้มากกว่า ยิ่งปัจจุบันสิ่งที่เรียกวิศวกรรมการเงินค่อนข้างระบาดในกลุ่มผู้บริหารสีเทา จึงทำให้ผู้สอบบัญชีตรวจสอบได้ยาก 

  ถามว่าวิธีการมีอะไรบ้างก็ตอบยากอยู่ดี ต้องรอจนมีเหตุลักษณะน้ำลดตอผุดขึ้นมาก่อน ถึงจะต้องไล่ย้อนขึ้นไปตรวจสอบได้ เหมือนที่ปรากฏในระยะหลัง

  ส่วนใหญ่ผู้ที่มักตรวจพบความผิดปกติคือ ก.ล.ต. และ ตลท. หรือบางครั้งอาจจะมีผู้ถือหุ้นร้องเรียนเข้ามามากๆ ทำให้ต้องสั่งให้มีการตรวจเฉพาะประเด็นโดยละเอียด

  นี่เป็นที่มาถึงการต้องมี Special Audit เพราะเมื่อถึงขั้นตอนดังกล่าว ผู้สอบบัญชีพิเศษจะได้โฟกัสถูกจุดและเจาะลึกถึงประเด็นต้องสงสัย 

  ต่างกับการตรวจสอบงบการเงินทั่วไป ที่จะตรวจสอบตามมาตรฐานการตรวจสอบบัญชีว่าได้จัดทำถูกต้องในสาระสำคัญตามหลักการบัญชีที่ได้รับการรับรองทั่วไปหรือไม่เท่านั้น"

 

*** ก.ล.ต.เผยยังไม่พบความผิดพลาดของผู้สอบบัญชี

  "ปริย เตชะมวลไววิทย์" ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร ก.ล.ต. เปิดเผยว่า ประเด็นเรื่องรายงานผู้สอบบัญชีไม่พบความผิดปกติจากการสอบบัญชีนั้น ยังไม่มีนัยในแง่ของความบกพร่องหรือผิดพลาด ส่วนใหญ่ยังทำหน้าที่ได้ดีตามปกติ 

  ซึ่งในระยะ 3 ปีที่ผ่านมายังไม่มีการตรวจพบการทุจริตหรือกล่าวโทษผู้สอบบัญชี ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้นต้องแยกแยะเป็นแต่ละรายไป และต้องรอการตรวจสอบจนถึงที่สุดก่อน ยังไม่สามารถสรุปได้ในตอนนี้

 

*** ไขข้อข้องใจ ทำไมต้องผู้สอบบัญชี BIG4 

  "ปริย เตชะมวลไววิทย์" เสริมอีกว่า การสั่งให้บางบริษัทต้องใช้ผู้สอบบัญชี BIG4 นั้น เนื่องจากมีการประกอบธุรกิจในหลายประเทศ ดังนั้น การให้สำนักงานสอบบัญชีขนาดใหญ่ซึ่งมีเครือข่ายในต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการ จะช่วยให้การสอบบัญชี หรือ Special audit สามารถทำได้ภายในกรอบเวลาและทำให้เกิดความกระจ่างต่อสาธารณชนโดยเร็ว ส่วนการไม่ได้รับสอบบัญชีนั้น ต้องมีข้อมูลและหลักฐานมาชี้แจงให้ชัดเจนเพื่อพิจารณาต่อไป

 

*** ชี้ผู้สอบบัญชีแหยง บจ.งบเน่าเกินเยียวยา

  ดร.ธีรชัย เพิ่มเติมว่า การที่บริษัทใดๆ ถูกปฏิเสธการสอบบัญชี แสดงว่า บริษัทผู้สอบบัญชีอาจจะมองเห็นความผิดปกติที่มากเกินไป จนไม่สามารถรับสอบบัญชีให้ได้ เพราะถือเป็นความเสี่ยงต่อบริษัทเช่นกัน หลังจากที่มีกฎเกณฑ์เข้มงวดและความรับผิดชอบสูง

  "ในวงการผู้สอบบัญชีจะมีคอนเนกชั่นถึงกันอยู่แล้ว หากมีปัญหาจากผู้สอบบัญชีรายเดิม รายใหม่มักจะไม่ค่อยรับรองงบให้ หรือทำ Special audit ให้ เพราะอาจจะมีความผิดปกติที่มากเกินไป"

 

แหล่งที่มา : www.efinancethai.com

เกี่ยวกับเรา

บริษัทรับตรวจสอบบัญชี ให้บริการด้วยนักวิชาอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบและการบริการให้ความเชื่อมั่นอื่น

Privacy Notice

etax