อธิบดี “ประสงค์” ให้โจทย์ทีมเฉพาะกิจลุยรีดภาษีธุรกิจออนไลน์ ตั้งธงรีวิวรายสินค้า “อี-คอมเมิร์ซ-เว็บเพจ” ที่จดทะเบียนในประเทศและต่างประเทศ หักภาษี ณ ที่จ่าย 3% ถูกต้องหรือไม่เดดไลน์ผลสรุปภายใน 1-2 เดือน เตรียมพบธปท.-ดีอี-ก.พาณิชย์หารือออกกฎหมายที่ผูกพันการทำธุรกรรมการเงิน นอกเหนือจากแก้ไขประมวลรัษฎากร 2490 วางกรอบต้องทันบังคับใช้ปี 60 เอกชนหนุน แต่ขอให้มีมาตรการจูงใจ ขณะที่ “เอ็ตด้า” ชี้แนวโน้มมูลค่าอี-คอมเมิร์ซปี 59 ทะลุ 2.5 ล้านล้านบาท
ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซหรือออนไลน์ที่สร้างรายได้ ให้กับผู้ประกอบการอย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่ในทางตรงข้ามประเทศกลับสูญเสียรายได้ เนื่องจากไม่มีความชัดเจนในการจ่ายภาษีที่ถูกต้อง ขณะนี้กรมสรรพากรจึงอยู่ในช่วงเร่งการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บ อุดการรั่วไหล พร้อมพัฒนารูปแบบการจัดเก็บภาษีเพื่อให้ก้าวทันเทคโนโลยี
ต่อเรื่องนี้นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงแนวทางศึกษาการจัดเก็บภาษีที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจออนไลน์ ว่า ขณะนี้กรมสรรพากร อยู่ระหว่างกำหนดรูปแบบโครงสร้างการจัดเก็บภาษีรูปแบบใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจออนไลน์และอี-คอมเมิร์ซ เนื่องจากปัจจุบันช่องทางออนไลน์ถูกนำมาใช้เป็นช่องทางการค้ามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านบนอินเตอร์เน็ตให้ลูกค้าสั่งซื้อผ่านเว็บเพจต่าง ๆ ที่เห็นชัดเจน คือ เฟซบุ๊ก หรือระบบไลน์ ที่มีแนวโน้มมากขึ้น คือ มีการนำ เฟซบุ๊ก ไลฟ์ มาเปิดประมูลขายสินค้าในกลุ่มเสื้อผ้า โดยให้โอนเงินผ่านบัญชีธนาคารรวมถึงโอนผ่านระบบ อินเตอร์เน็ต แบงกิ้ง เบื้องต้นได้ประเมินว่าแต่ละวันจะมีการทำธุรกรรมครอบคลุมการสั่งซื้อไปจนถึงโอนเงินคิดเป็นมูลค่าหลักแสนหรืออาจสูงไปจนถึงหลักล้านบาท เนื่องจากสามารถขายหรือสั่งซื้อสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ตั้งทีมเฉพาะกิจไล่ตรวจสอบ
อย่างไรก็ตาม แนวทางในการศึกษาบนฐานธุรกิจอี-คอมเมิร์ซนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ 1. ธุรกิจอี คอมเมิร์ซ ที่อยู่ในระบบและจดทะเบียนอยู่ในประเทศไทย และ 2.ธุรกิจอี คอมเมิร์ซ ที่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก มีการขายสินค้าหรือบริการแต่ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง ธุรกิจที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ (ไม่อยู่ในระบบของเมืองไทย) ซึ่งได้มอบนโยบายให้ทีมเฉพาะกิจ เก็บรวบรวมข้อมูลของทั้งสองกลุ่มแล้วคาดว่าจะได้ข้อมูลและสรุปภายใน 1-2 เดือน
“ข้อมูลที่เราจะเก็บต้องครอบคลุมตั้งแต่สินค้าที่มีการซื้อขายผ่านอี-คอมเมิร์ซ กลุ่มลูกค้าเป้าหมายไม่ว่าจะเป็นเน็ตไอดอล บล็อกเกอร์ รีวิวสินค้า ที่ได้รับค่าตอบแทน ซึ่งตรงนี้จะต้องดูว่ามีการจ่ายหรือหักภาษี ณ.ที่จ่าย 3% ไว้หรือไม่ รวมถึงจะเน้นเว็บเพจด้วย ขณะเดียวกันกรมจะมีหนังสือเวียนถึงสรรพากรทั่วประเทศตรวจสอบธุรกรรมออนไลน์และสรุปผลกลับมาสิ้นปีนี้”
ปรับแก้กม.ให้ทันสมัย
อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวอีกว่า ต้องยอมรับว่าปัจจุบันกฎหมายที่มีอยู่ยังเข้าไปไม่ถึงผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ ดังนั้นจำเป็นจะต้องมีการปรับแก้ไขกฎหมายให้มีความทันสมัยซึ่งกำลังอยู่ระหว่างพิจารณาเสนอร่างกฎหมายฉบับใหม่ที่เพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีในกลุ่มเว็บเพจที่ไม่ได้มีการตั้งหรือจดทะเบียนอยู่ในประเทศไทย ทั้งนี้จะมีการแก้ไขนิยามในส่วนของผู้ประกอบการและผู้เสียภาษี ซึ่งจะต้องหารือกับกระทรวงหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย โดยเฉพาะกระทรวงไอซีที (ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจและสังคมหรือดีอี) รวมถึงธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และกระทรวงพาณิชย์ ที่จะต้องมีการหารือร่วมกันในการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องฉบับอื่นๆ เนื่องจากมีผลผูกพันต่อการทำธุรกรรมการเงินอีกด้วย
อิงข้อมูลกว่า 100 ประเทศ
เนื่องจากกฎหมายเดิมมีใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2490 ขณะนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ตหรือระบบการค้าที่เป็นเช่นในสมัยนี้ โดยกระบวนการผลักดันกฎหมายจะต้องเร่งทำการศึกษาเพื่อเสนอผลรวมถึงเพื่อให้เดินหน้ากฎหมายฉบับนี้ให้เร็วที่สุดภายในปี 2560 โดยคาดว่าจะสามารถมีผลบังคับใช้ในปี 2560 หรือต้นปี2561 หรืออาจจะเร็วกว่านั้น ซึ่งที่ผ่านมากรมฯได้มีการศึกษาการจัดเก็บภาษีเกี่ยวกับธุรกิจออนไลน์มากกว่า 100 ประเทศแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องปิดช่องโหว่หรือการหลบเลี่ยงภาษีในส่วนนี้
ขณะเดียวกัน กฎหมายฉบับนี้จะต้องครอบคลุมธุรกิจที่หลากหลายที่มีการทำธุรกรรมหรือสิ่งใดๆ บนโลกอินเตอร์เน็ตไม่เฉพาะ การซื้อขายสินค้าปกติเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับภาคการเงินไม่ว่าจะการระดมทุนผ่านบริษัทหรือช่องทางต่างๆ เช่น บิทคอยซึ่งอาจเข้าข่ายหลอกลวงตลอดจนการสั่งซื้อหรือจอง ที่พักการเดินทางท่องเที่ยว เหล่านี้มีการตั้งหรือจดทะเบียนอยู่ในต่างประเทศแต่กลับมาเปิดธุรกิจบนอินเตอร์เน็ตซึ่งเมื่อมีการโอนเงินหรือชำระเงินค่าบริการ แต่เม็ดเงินดังกล่าวกลับวิ่งออกไปต่างประเทศทันที ดังนั้นจะต้องควบคุมตั้งแต่ต้นทาง
ทั้งนี้ สิ่งที่กรมสรรพากรจะทำคือ ต้องการให้ผู้ประกอบการหรือธุรกิจออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซ เข้ามาอยู่ในระบบให้ได้ รวมถึงจะให้ความรู้ด้านต่างๆ เพื่อให้ทำให้เกิดการค้าในระบบ แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่ากรณีธุรกิจที่ทำการค้าขายสินค้าออนไลน์แล้วมีการหลบเลี่ยงภาษีมาก่อนหน้านั้นจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายภาษีย้อนหลังหรือไม่ ซึ่งตรงนี้ต้องรอความขัดเจนอีกครั้ง นายประสงค์กล่าวในที่สุด
ดีอีแนะสร้างแรงจูงใจให้เข้าระบบ
ทางด้านนางทรงพร โกมลสุรเดช ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอีเผยว่าขณะนี้ยังไม่มีการหารือกับกรมสรรพกร เรื่องการจัดเก็บภาษีออนไลน์ หรือ การค้าขายสินค้าบนอิเล็กทรอนิกส์ แต่อย่างใด ซึ่งหากจะมีการจัดเก็บภาษีจริงกระทรวงฯอยากเสนอแนะว่า ต้องสร้างแรงจูงใจให้ผู้ค้าออนไลน์เข้าสู่ระบบ แม้จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ แวต แล้วก็ตาม แต่ผู้ค้าต้องเสียรายได้จากการค้าขายเช่นเดียวกัน
ส่วนหน้าที่ของกระทรวงดีอี คือ สร้างความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ และ สนับสนุนในการจัดฝึกอบรมให้ความรู้ในการสร้างเว็บเพจ และ จัดทำหน้าร้านขายของบนเว็บไซต์ เป็นต้น โดยมี ซิป้า หรือ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) ให้การสนับสนุนในส่วนนี้
เอกชนชี้ถ้าลงโทษแรงหวั่นเลิกขาย
ส่วนนายภาวุธ พงษ์วิทยาภาณุ รักษาการ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าว ถึงกรณีที่กรมสรรพากร มีมาตรการเรียกเก็บภาษีจากผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-คอมเมิร์ซว่าผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ เห็นด้วยในเชิงนโยบายรัฐ ที่ต้องการเรียกเก็บภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามภาครัฐควรใช้มาตรการส่งเสริม หรือจูงใจ ให้ผู้ประกอบการเสียภาษีอย่างถูกต้องมากกว่าการใช้มาตรการลงโทษ เช่น เรียกเก็บภาษีย้อนหลัง
โดยอาจใช้วิธีการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ อาทิ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ให้ความรู้กับผู้ประกอบการ หรือช่วยในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ ให้ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น หรือ อาจจะมีมาตรการทางด้านภาษี อย่างมาตรการช็อปช่วยชาติ หรือ มาตรการกระตุ้นท่องเที่ยว ที่ให้ประชาชนที่ซื้อสินค้า หรือ ใช้จ่ายเงินรวมมูลค่า 15,000 บาท แล้วนำใบกำกับภาษีมายื่นขอคืนภาษีได้ โดยมาตรการดังกล่าวทำให้ผู้ซื้อขอใบกำกับภาษีจากผู้ขายสินค้า ซึ่งเท่ากับเป็นการบังคมให้ผู้ขายเข้ามาในระบบที่ถูกต้อง
“จริงๆ แล้ว ไม่มีภาษีอี-คอมเมิร์ซ ไม่ใช่ภาษีตัวใหม่ แต่เป็นภาษีเดิม คือ หากผู้ประกอบการเป็นนิติบุคคล ก็เป็นภาษีนิติบุคคล และผู้ประกอบการเป็นบุคคลธรรมดา ก็เป็นภาษีบุคคลธรรมดา โดยภาครัฐต้องการดึงผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซ เข้ามาในระบบภาษี แต่หากใช้วิธีการลงโทษนั้นท้ายที่สุดผู้ประกอบการเกิดความกลัวก็จะเลิกขายสินค้ากันหมด ซึ่งก็จะขัดกับนโยบายส่งเสริมเอสเอ็มอี หรือสตาร์ทอัพของรัฐบาล”
อนึ่งข้อมูลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยประจำ ปี 2559 ล่าสุดของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ระบุว่า ในปี 2558 อี-คอมเมิร์ซในไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 2,245,147.02 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 43.47% ของมูลค่าขายสินค้าและบริการทั้งหมด ในจำนวนนี้ ส่วนใหญ่เป็นมูลค่าอี-คอมเมิร์ซประเภทธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) ประมาณ 1,334,809.46 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 59.45% รองลงมาคือ มูลค่าอี-คอมเมิร์ซประเภท ธุรกิจต่อผู้บริโภค(B2C) ประมาณ 509,998.39 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 22.72% และมูลค่าอี-คอมเมิร์ซประเภทธุรกิจต่อภาครัฐ (B2G) ประมาณ 400,339.17 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17.83%
ส่วนการคาดการณ์แนวโน้มมูลค่าอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย ปี 2559 พบว่า มีอัตราเติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 2,523,994.46 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 40.08% ของมูลค่าขายสินค้าและบริการทั้งหมด โดยเพิ่มขึ้นจากปี 2558 คิดเป็น 12.42% ส่วนมูลค่าขายนั้นส่วนใหญ่เป็นมูลค่าอี-คอมเมิร์ซประเภทธุรกิจต่อธุรกิจ( B2B) คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1,381,513.39 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 54.74% ซึ่งเพิ่มจากปี 58 ประมาณ 3.50% รองลงมาคือ มูลค่าอี-คอมเมิร์ซประเภทธุรกิจต่อผู้บริโภค ( B2C) จำนวน 729,292.32 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 28.89% เพิ่มจากปี 58 ประมาณ 43.00% และมูลค่าอี-คอมเมิร์ซประเภทธุรกิจต่อภาครัฐ B2G ) จำนวน 413,037.84 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 16.37%) เพิ่มขึ้นจากปี 58 ประมาณ 3.21% และหากไม่รวมมูลค่าประมูลอิเล็กทรอนิกส์ ( e-Auction) ในปี 2558 มูลค่าอี-คอมเมิร์ซประเภท B2B, B2C และ B2G คิดเป็น 72.05%, 27.53% และ 0.43% ของมูลค่าอี-คอมเมิร์ซในปี 2558 ตามลำดับ
ขอขอบคุณที่มา : ฐานเศรษฐกิจ