การที่บริษัทจะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะต้องมีการเตรียมความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นในด้านของกฎหมาย ข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง การเข้าใจบทบาทหน้าที่ของกรรมการ การจัดโครงสร้างธุรกิจ การจัดให้มีระบบการควบคุมภายในที่ดี และหนึ่งในเรื่องที่สำคัญคือ การจัดทำงบการเงิน ที่ต้องจัดทำตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน(TFRS) สำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียสาธารณะ(PAEs)
ดังนั้นสิ่งที่บริษัทต้องดำเนินการเพื่อให้งบการเงินเป็นไปตามเกณฑ์กำหนดของสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ควรมีดังนี้
1. บุคคลากรด้านบัญชีอย่างเพียงพอ และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินในการจัดทำงบการเงิน
โดยบุคคลากรด้านบัญชีที่สำคัญได้แก่ ผู้ที่รับผิดชอบสูงสุดในสายงานบัญชีและการเงิน (CFO) และสมุห์บัญชีต้องมีคุณสมบัติตามประกาศหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต) ดังนี้
2. ผู้สอบบัญชีต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต)ให้ความเห็นชอบ
ผู้สอบบัญชีมีหน้าที่ให้คำปรึกษา ตรวจสอบ ให้ความเห็นต่อระบบการควบคุมภายในของบริษัทได้ และรับรองการรายงานข้อมูลทางการเงินของบริษัทให้ถูกต้องและเป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ซึ่งบริษัทควรเลือกผู้สอบบัญชีที่มีความรู้ ความสามารถ และเข้าใจในธุรกิจของบริษัท และมีเวลาเพียงพอในการดูแลบริษัทได้
จากประสบการณ์การนำบริษัทเข้า IPO ผู้สอบบัญชีมักพบประเด็นปัญหาในทางการบัญชีตั้งแต่ปัญหาเล็กจนถึงปัญหาใหญ่ และบางครั้งอาจทำให้บริษัทไม่สามารถเข้า IPO ได้ ดังนั้นจะขอสรุปประเด็นปัญหาข้อผิดพลาดทางการบัญชีที่พบบ่อยในงบการเงินที่จะเสนอยื่น IPO เพื่อเป็นข้อเตือนใจให้บริษัทต่าง ๆ ที่จะเข้าจดทะเบียนระมัดระวังให้มากขึ้น ดังนี้
• การเปลี่ยนเกณฑ์ในการจัดทำงบการเงิน การปรับงบการเงินจากเดิมที่กิจการใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่ไม่มีส่วนได้เสียต่อสาธารณะ(NPAEs) มาเป็นมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียต่อสาธารณะ(PAEs) ซึ่งมีความแตกต่างที่สำคัญอยู่หลายประการที่มาตรฐานการรายงานทางเงินที่ไม่มีส่วนได้เสียต่อสาธารณะ(NPAEs) ไม่ได้กำหนดให้ปฏิบัติทั้งในเรื่อง หลักการบัญชี การจัดทำงบการเงิน รูปแบบงบการเงิน การเปิดเผยข้อมูลในงบการเงิน ดังนั้น จึงเป็นซึ่งจำเป็นที่บุคคลากรทางด้านบัญชีของบริษัทต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจ และรวมถึงการปรึกษาหารือกับผู้สอบบัญชีของบริษัท เพื่อให้จัดทำงบการเงินให้ถูกต้องเป็นไปตามเป็นมาตรฐานการรายงานทางการเงินสำหรับกิจการที่มีส่วนได้เสียต่อสาธารณะ(PAEs)
• การรับรู้รายได้ไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่กำหนด เช่น การประเมินขั้นความสำเร็จของงาน บริการหรืองานก่อสร้าง การรับรู้รายได้ผิดรอบบัญชี การขายพร้อมติดตั้ง การปันส่วนรายได้ การรับรู้รายได้ด้วยยอดรวมหรือยอดสุทธิ (gross หรือ net)
• การเพิ่มทุน การขายหุ้นใหม่หรือหุ้นเดิมให้แก่กรรมการ พนักงานหรือบุคคลอื่น ที่เข้าเกณฑ์มาตรฐานการรายงานทางการเงินเรื่องการจ่ายโดยหุ้นเป็นเกณฑ์
• อายุการใช้งานของสินทรัพย์ ใช้ตามเกณฑ์สรรพากรโดยไม่ได้พิจารณาอายุการให้ประโยชน์ของสินทรัพย์ ไม่ได้วัดมูลค่าคงเหลือ(มูลค่าซาก)ของสินทรัพย์ จากการจำหน่ายสินทรัพย์เมื่อสิ้นสุดอายุการให้ประโยชน์ในกรณีสินทรัพย์นั้นมีมูลค่าคงเหลือที่เป็นสาระสำคัญ และไม่ประมาณค่ารื้อถอนกรณีสินทรัพย์อยู่บนที่ดินเช่าที่สัญญาเช่ากำหนดว่าเมื่อสิ้นสุดสัญญาต้องปรับพื้นที่ดังเดิม
• การรวมกิจการ เข้าเกณฑ์การซื้อธุรกิจ หรือซื้อสินทรัพย์ การรวมธุรกิจภายใต้การควบคุมเดียวกัน การพิจารณาอำนาจในการควบคุม ที่ยังมีการรับรู้รายการไม่ถูกต้องตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน
• ไม่พิจารณาการด้อยค่าของสินทรัพย์ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ในกรณีที่บริษัทมีสินทรัพย์ที่ไม่สามารถนำมาดำเนินงานเพื่อให้เกิดรายได้อีกต่อไปบริษัทต้องพิจารณาการด้อยค่าสินทรัพย์ดังกล่าว
• ความเพียงพอของการตั้งสำรองต่าง ๆ เช่น ค่าเพื่อลูกหนี้ที่เกิดจากการค้างนาน หรือไม่สามารถเรียกเก็บหนี้ได้แล้ว,หรือมีสินค้าที่ค้างนาน ล้าสมัยเคลื่อนไหวช้า ซึ่งฝ่ายบริหารของบริษัทควรมีการกำหนดนโยบายในการตั้งสำรองให้สอดคล้องเหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ
• การบันทึกภาระหนี้สินไม่ครบถ้วน เช่น บริษัทที่มีการขายสินค้ามีการประกันคุณภาพของสินค้าหลังการขาย 6 เดือน หรือ 1 ปี หนี้สินจากการรับคืนสินค้ากรณีผู้ซื้อไม่พอใจในสินค้า
• การเปิดเผยรายการที่เกี่ยวข้องกันไม่ครบถ้วน เช่น การเปิดเผยบุคคลหรือกิจการที่เกี่วข้องกันไม่ครบถ้วนตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินกำหนดการพิจารณาความสัมพันธ์แต่ละรายการให้คำนึงถึงเนื้อหาของความสัมพันธ์มากกว่ารูปแบบทางกฎหมาย ไม่เปิดเผยนโยบายการกำหนดราคา ลักษณะความสัมพันธ์
ประเด็นต่าง ๆ ตามข้างต้นนี้จะเห็นได้ว่างบการเงิน เป็นส่วนสำคัญเพราะเป็นข้อมูลที่ผู้ลงทุนใช้ในการพิจารณาความสามารถของธุรกิจ ดังนั้นในการจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ฝ่ายบริหารของบริษัทต้องให้สำคัญและวางแผนเตรียมการให้พร้อมเพื่อให้การจดทะเบียนระดมทุนเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ อย่างมีประสิทธิผล
ผู้เขียน ธัญพร ตั้งธโนปจัย กรรมการบริหาร บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด
อ้างอิง : website ของสำนักงาน ก.ล.ต. http://www.sec.or.th , website ของตลาดหลักทรัพย์ฯ https://www.set.or.th