บุคคลธรรมดามีหน้าที่ต้องยื่นเงินได้เพื่อเสียภาษีเงินได้ในทุกปี ภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี แต่ในปีภาษี 2563 นี้ทางสรรพากรมีการขยายเวลาให้ยื่นภาษีได้ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 โดยบุคคลธรรมดาที่มีรายได้เกิน 120,000 บาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะคำนวณจากเงินได้สุทธิประจำปี ซึ่งเกิดจากเงินได้ทั้งปี หักค่าใช้จ่าย และหักค่าลดหย่อน หากรายได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท ก็จะได้รับการยกเว้นภาษีแต่ถ้าเกินกว่านั้นก็จะเสียภาษีในอัตราก้าวหน้าแบบขั้นบันได ฉะนั้นค่าลดหย่อนเป็นรายการหักที่บุคคลธรรมดาควรรู้ เพื่อให้การเสียภาษีเป็นไปอย่างถูกต้อง ครบถ้วนและเป็นการวางแผนเพื่อการเสียภาษีในปีถัดไป โดยค่าลดหย่อนสำหรับปีภาษี 2563 ที่สำคัญและควรรู้ สรุปได้ดังนี้
ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว
ค่าลดหย่อน | เงื่อนไข |
1. ค่าลดหย่อนภาษีส่วนตัว ลดหย่อนได้ไม่เกิน 60,000 บาท |
ไม่มีเงื่อนไข |
2. ค่าลดหย่อนภาษีคู่สมรส ลดหย่อนได้ไม่เกิน 60,000 บาท |
สำหรับคู่สมรสที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย และคู่สมรสต้องไม่มีรายได้ |
3. ค่าลดหย่อนภาษีบุตร ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท บุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท |
ถ้าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายหักได้คนละ 30,000 บาท โดยไม่จำกัดจำนวนบุตร และในกรณีบุตรคนที่ 2 ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไปจะสามารถหักลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท ส่วนบุตรบุญธรรมจะหักได้คนละ 30,000 บาทแต่ไม่เกิน 3 คน |
4. ค่าลดหย่อนภาษีบิดา มารดา ลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท |
โดยบิดา มารดา ต้องมีอายุ 60 ปีขึ้นไป และมีรายได้ทั้งปีไม่เกิน 30,000 บาท บิดา มารดาต้องมีหนังสือรับรองว่าบุตรคนใดจะเป็นผู้ดูแลในแต่ละปีภาษี ห้ามใช้สิทธิซ้ำซ้อนระหว่างพี่น้อง |
5. ค่าลดหย่อนภาษีผู้พิการ ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท |
ถ้าผู้พิการเป็นคู่สมรส บุตร บิดา มารดา สามารถหักได้คนละ 30,000 บาทแต่ถ้าเป็นบุคคลอื่นสามารถหักได้คนเดียวคนละ 60,000 บาท |
6. ค่าฝากครรภ์และทำคลอด ลดหย่อนได้ท้องละ 60,000 บาท |
ค่าฝากครรภ์ตามที่จ่ายจริงไม่เกินท้องละ 60,000 บาท สำหรับค่าใช้จ่ายที่จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 |
ค่าลดหย่อนภาษีเบี้ยประกัน
ค่าลดหย่อน | เงื่อนไข |
1. ค่าเบี้ยประกันชีวิตทั่วไป รวมถึงประกันแบบสะสมทรัพย์ ลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท |
โดยกรมธรรม์ต้องคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และหากมีการจ่ายเงินคืนในทุกปีระหว่างทาง เงินที่ได้รับคืนต้องไม่เกิน 20% ของเบี้ยประกันรายปี |
2. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพ ลดหย่อนได้ไม่เกิน 25,000 บาท |
เบี้ยประกันสุขภาพรวมถึงเบี้ยประกันอุบัติเหตุที่คุ้มครองสุขภาพ แต่เมื่อรวมกับเบี้ยประกันชีวิตตามข้อ 1 ต้องไม่เกิน 100,000 บาท |
3. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพบิดา มารดา ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท |
เบี้ยประกันสุขภาพบิดามารดารวมกันแล้วไม่เกิน 15,000 บาทและสามารถรวมประกันสุขภาพบิดามารดาของคู่สมรส ได้กรณีคู่สมรสไม่มีรายได้ |
4. ค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ไม่เกิน 200,000 บาท |
เป็นรายจ่ายที่ได้จ่ายตามจริง แต่ไม่เกิน 15% ของรายได้รวมทั้งปีและต้องไม่เกิน 200,000 บาท หรือต้องไม่เกิน 300,000 บาท หากไม่มีการลดหย่อนภาษีด้วยเบี้ยประกันชีวิต แต่เมื่อรวมกับการลงทุนในกองทุนต่างๆ ต้องไม่เกิน 500,000 บาท |
ค่าลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน
ค่าลดหย่อน | เงื่อนไข |
1. กองทุนประกันสังคม ลดหย่อนได้ไม่เกิน 5,850 บาท |
เป็นรายจ่ายที่ได้จ่ายไปจริงแต่ไม่เกิน 5,850 บาท ปรับลดจากเดิม 9,000 บาทเนื่องจากสถานการณ์โควิด |
2. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ( RMF ) ลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาท |
ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้รวมทั้งปี แต่ต้องไม่เกิน 500,000 ในแต่ละปีภาษี |
3. กองทุน กบข. และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ กองทุนสงเคราะห์ครู ลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาท |
ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของรายได้รวมทั้งปี แต่ต้องไม่เกิน 500,000 ในแต่ละปีภาษี |
4. กองทุนรวมเพื่อการออม ( SSF ) ลดหย่อนได้ไม่เกิน 200,000 บาท |
ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30% ของรายได้รวมทั้งปี แต่ต้องไม่เกิน 200,000 ในแต่ละปีภาษี |
5. กองทุนรวมเพื่อการออมพิเศษ ( SSFX ) ลดหย่อนได้ไม่เกิน 200,000 บาท |
ถ้าผู้พิการเป็นคู่สมรส บุตร บิดา มารดา สามารถหักได้คนละ 30,000 บาทแต่ถ้าเป็นบุคคลอื่นสามารถหักได้คนเดียวคนละ 60,000 บาท |
6. กองทุนการออมแห่งชาติลดหย่อนได้ไม่เกิน 13,200 บาท | ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ละปีภาษีและไม่เกิน 13,200 บาท |
อย่างไรก็ตามการลงทุนใน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ( RMF ) กองทุน กบข. และ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และ กองทุนสงเคราะห์ครู และกองทุนรวมเพื่อการออม ( SSF ) และกองทุนการออมแห่งชาติและเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ เมื่อรวมกันแล้วตลอดปีภาษีต้องไม่เกิน 500,000 บาท
ค่าลดหย่อนภาษีด้วยเงินบริจาค
ค่าลดหย่อน | เงื่อนไข |
1. เงินบริจาคเพื่อสนับสนุนการศึกษา การกีฬา และสถานพยาบาลของรัฐ ลดหย่อนได้ 2 เท่าของจำนวนที่จ่ายจริง |
สามารถหักค่าใช้จ่ายได้สองเท่าของค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไปจริงแต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน |
2. เงินบริจาคทั่วไป ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง |
สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ตามที่จ่ายจริงแต่ต้องไม่เกิน 10% ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนและเงินบริจาคตามข้อ 1 |
3. เงินบริจาคให้กับพรรคการเมือง ลดหย่อนได้ไม่เกิน 10,000 บาท |
ลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริงแต่ปีละภาษีไม่เกิน 10,000 บาท |
ค่าลดหย่อนภาษีจากมาตรการรัฐ
ค่าลดหย่อน | เงื่อนไข |
1. ดอกเบี้ยเงินกู้ยืมซื้อที่อยู่อาศัย ลดหย่อนได้ไม่เกิน 100,000 บาท |
ค่าดอกเบี้ยจ่ายจากเงินกู้ยืมในการกู้ซื้อที่อยู่อาศัยเป็นค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายจริงไม่เกินปีละ 100,000 บาท ทั้งนี้อาจจะเป็นการกู้ยืมเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยมากกว่าหนึ่งหลังก็ได้ ถ้ามีการกู้ซื้อร่วมกันต้องหารค่าดอกเบี้ยจ่ายตามจำนวนผู้ที่กู้ร่วม |
2. ค่าซื้อบ้านหลังแรกในปี 2558 - 2559 ลดหย่อนได้ไม่เกิน 120,000 บาท |
ค่าซื้อบ้านหลังแรกในระหว่างวันที่ 13 ตุลาคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559 ราคาบ้านต้องไม่เกิน 3 ล้านบาท (ถ้าเกินจะใช้สิทธิไม่ได้เลย) โดยใช้สิทธิลดหย่อนได้ 20% ของราคาบ้าน เป็นจำนวนไม่เกิน 600,000 บาท และนำสิทธิดังกล่าวมาเฉลี่ยเป็นค่าใช้จ่ายได้ 5 ปี ภาษีเท่า ๆกัน ปี 2563 เป็นปีสุดท้ายที่จะสามารถใช้สิทธิตามมาตรการนี้ได้ |
3. ค่าซื้อบ้านหลังแรกในปี 2562 ลดหย่อนได้ไม่เกิน 200,000 บาท |
ลดหย่อนภาษีสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท แต่ที่อยู่อาศัยนั้นราคาไม่เกิน 5,000,000 บาท |
4 มาตรการช้อปดีมีคืน ลดหย่อนได้ไม่เกิน 30,000 บาทดีมีคืน |
สำหรับการซื้อสินค้าและบริการผ่านผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ประกอบการที่กำหนด ตามจำนวนที่มีการจ่ายจริง แต่รวมกันไม่เกิน 30,000 บาท ต้องซื้อสินค้าและบริการตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563 |
จากที่สรุปค่าลดหย่อนดังกล่าวข้างต้นสามารถแบ่งค่าลดหย่อนได้เป็น 5 กลุ่ม คือ ค่าลดหย่อนส่วนตัวและครอบครัว ค่าลดหย่อนภาษีเบี้ยประกัน ค่าลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน ค่าลดหย่อนภาษีด้วยเงินบริจาค และค่าลดหย่อนภาษีจากมาตรการรัฐ ฉะนั้น บุคคลธรรมดาผู้มีเงินได้และกำลังจะยื่นภาษีเงินได้ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2564 นี้ควรทำการตรวจเช็คค่าลดหย่อนใน 5 กลุ่มดังกล่าวว่าบุคคลธรรมดาผู้ยื่นภาษีมีสิทธิหักค่าลดหย่อนในข้อไหนได้บ้างเพื่อให้การยื่นภาษีเป็นไปอย่างถูกต้องครบถ้วน และเป็นการวางแผนเพื่อการเสียภาษีในปีถัดไปได้อย่างถูกต้องด้วย
ผู้เขียน :คุณสุวัฒน์ มณีกนกสกุล บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด