178 อาคารธรรมนิติ ชั้น 6-7 ซอยเพิ่มทรัพย์ (ประชาชื่น20) ถนนประชาชื่น แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร 10800

ข่าวสารวิชาชีพ

การใช้การวิเคราะห์เปรียบเทียบของผู้สอบบัญชี

มาตรฐานการสอบบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์เปรียบเทียบเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานของผู้สอบบัญชี ได้แก่ มาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 315 (ปรับปรุง) การระบุและประเมินความเสี่ยงจากการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสําคัญ โดยการทําความเข้าใจกิจการและสภาพแวดล้อมของกิจการ กำหนดให้ใช้การวิเคราะห์เปรียบเทียบเป็นวิธีการหนึ่งในวิธีการประเมินความเสี่ยง และตามมาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 520 เป็นมาตรฐานการสอบบัญชีที่เกี่ยวข้องกับการใช้การวิเคราะห์เปรียบเทียบของผู้สอบบัญชีในการตรวจสอบเนื้อหาสาระ และเกี่ยวข้องกับความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีในการทำการวิเคราะห์เปรียบเทียบในช่วงที่การตรวจสอบใกล้จะแล้วเสร็จ เพื่อช่วยผู้สอบบัญชีในการสรุปผลโดยรวมต่องบการเงิน โดยผู้สอบบัญชีสามารถนำการวิเคราะห์เปรียบเทียบมาใช้ในช่วยในงานตรวจสอบแต่ละช่วง ดังนี้

1. การใช้การวิเคราะห์เปรียบเทียบในช่วงวางแผน

ผู้สอบบัญชีสามารถใช้การวิเคราะห์เปรียบเทียบเบื้องต้น ในช่วงวางแผนการตรวจสอบช่วยให้ผู้สอบบัญชีมีความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจและสามารถระบุเรื่องหรือรายการที่จะเกิดความเสี่ยง ซึ่งควรให้ความสนใจเป็นพิเศษและยังช่วยในการกําหนดลักษณะระยะเวลาและขอบเขตวิธีปฏิบัติงานตรวจสอบด้วย

การวิเคราะห์เปรียบเทียบที่ทําในการประเมินความเสี่ยงอาจให้แง่มุมของกิจการที่ผู้สอบบัญชีไม่เคยทราบมาก่อนและอาจช่วยในการประเมินความเสี่ยงจากการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสําคัญเพื่อเป็นข้อมูลสําหรับการออกแบบและการนําวิธีที่ตอบสนองต่อความเสี่ยงไปปฏิบัติการวิเคราะห์เปรียบเทียบที่ใช้ในประเมินความเสี่ยงอาจรวมทั้งข้อมูลด้านการเงินและไม่ใช่ด้านการเงิน เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างยอดขายกับพื้นที่ขายหรือปริมาณสินค้าที่ขาย

อย่างไรก็ตาม เมื่อการวิเคราะห์เปรียบเทียบนั้นใช้ข้อมูลแบบยอดรวมเพื่อการวิเคราะห์เบื้องต้น (ซึ่งมักเกิดขึ้นกับการวิเคราะห์เปรียบเทียบในขั้นตอนการประเมินความเสี่ยง) ผลของการวิเคราะห์เปรียบเทียบให้เพียงข้อบ่งชี้อย่างคร่าว ๆ ว่ามีการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสําคัญหรือไม่ ในกรณีดังกล่าว การพิจารณาผลของการวิเคราะห์เปรียบเทียบนั้นร่วมกับข้อมูลอื่นที่รวบรวมจากการระบุความเสี่ยงจากการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสําคัญอาจช่วยผู้สอบบัญชีในการทําความเข้าใจและการประเมินผลของการวิเคราะห์เปรียบเทียบได้

2. การใช้การวิเคราะห์เปรียบเทียบเพื่อเป็นการสอบทาน ข้อมูลในงบการเงินทั้งหมดในช่วงการตรวจสอบใกล้จะแล้วเสร็จ

วิธีการวิเคราะห์เปรียบเทียบอาจช่วยในการระบุการมีอยู่ของรายการหรือเหตุการณ์ที่ผิดปกติและจํานวนเงิน อัตราส่วนทางการเงิน และแนวโน้มที่อาจเป็นประเด็นที่มีนัยต่อการสอบบัญชี ความสัมพันธ์ที่ผิดปกติหรือที่ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้อาจช่วยผู้สอบบัญชีในการระบุความเสี่ยงจากการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสําคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงจากการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเนื่องมาจากการทุจริต โดยผลจากการวิเคราะห์เปรียบเทียบช่วยให้ผู้สอบบัญชีสามารถพิจารณาได้ว่างบการเงินโดยรวมมีความสมเหตุสมผลหรือไม่ หรืออาจช่วยให้ผู้สอบบัญชีสามารถระบุถึงเรื่องที่จำเป็นต้องตรวจสอบเพิ่มเติมโดยวิธีการตรวจสอบอื่นก็ได้

3. การใช้การวิเคราะห์เปรียบเทียบเป็นวิธีการตรวจสอบเนื้อหาสาระ

ผู้สอบบัญชีสามารถใช้การวิเคราะห์เปรียบเทียบในการรวบรวมหลักฐานการสอบบัญชีที่ทำให้ตรวจพบการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญในงบการเงินโดยใช้การวิเคราะห์เปรียบเทียบ (substantive analytical procedure) ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีการตรวจสอบเนื้อหาสาระที่สามารถช่วยให้ผู้สอบบัญชีทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ในหลายกรณีผู้สอบบัญชีจึงใช้วิธีการตรวจสอบเนื้อหาสาระโดยใช้การวิเคราะห์เปรียบเทียบร่วมกับการทดสอบรายละเอียดของรายการและยอดคงเหลือ

 

ผู้เขียน : คุณเตชินี พรเพ็ญพบ บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ

 

เกี่ยวกับเรา

บริษัทรับตรวจสอบบัญชี ให้บริการด้วยนักวิชาอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบและการบริการให้ความเชื่อมั่นอื่น

Privacy Notice

etax