178 อาคารธรรมนิติ ชั้น 6-7 ซอยเพิ่มทรัพย์ (ประชาชื่น20) ถนนประชาชื่น แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร 10800

ข่าวสารวิชาชีพ

ภาษีย้อนหลัง (Retroactive tax)

ภาษีย้อนหลัง (Retroactive tax)

สำหรับผู้ที่มีเงินได้ไม่ว่ามาจากแหล่งใดต้องคำนึงถึงภาษีด้วยเสมอ จึงไม่ควรหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีในแต่ละปี เพื่อจะได้ไม่ให้เกิดเหตุการณ์โดนค่าปรับจากการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง ฉะนั้นมาทำความรู้จักกับคำว่า การเก็บภาษีย้อนหลัง (Retroactive tax) โดยมี 3 หน่วยงานรับผิดชอบคือ กรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมสรรพสามิต แต่ที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรงคือ กรมสรรพากร ที่มีกลุ่มผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์

ทำไมถึงโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง?

การที่คุณโดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังนั้น สันนิษฐานได้ว่ามาจาก 2 กรณี คือ

1. คุณยังไม่ได้จ่ายภาษี

2. คุณจ่ายภาษีไม่ถูกต้อง

ซึ่งข้อที่ 2 นั้นจะมีความซับซ้อนกว่า เพราะอาจจะเป็นไปได้หลายกรณีทั้งการจ่ายภาษีไม่ครบ การระบุรายได้และคำนวณภาษีที่ต้องจ่ายไม่ถูกต้อง หรือการที่คุณตั้งใจจะหลีกเลี่ยงภาษี ซึ่งไม่ว่าจะเป็นกรณีไหนก็ตาม คุณไม่มีทางรอดสายตาของกรมสรรพากรไปได้ เพราะทางสรรพากรก็จะมีวิธีตรวจสอบภาษีย้อนหลังในหลายช่องทาง

วิธีตรวจสอบภาษีย้อนหลังของกรมสรรพากร

ถึงแม้ผู้เสียภาษีในประเทศไทยจะมีเป็นจำนวนมาก แต่กรมสรรพากรก็มีวิธีตรวจสอบภาษีแบบทั่วถึงเช่นกัน มีวิธีอะไรบ้างไปดูกัน

1. การออกตรวจเยี่ยม คือ การออกไปตรวจเยี่ยมผู้เสียภาษีด้วยตัวเอง ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเจอในกลุ่มผู้ประกอบการทั้งบุคคลและนิติบุคคล

2. การตรวจนับสต็อกสินค้า ใช้กับผู้ที่ทำธุรกิจการค้าขายทั้งในประเทศและส่งออก ซึ่งการนับสต็อกสินค้าจะทำให้ทราบว่าผู้ประกอบการได้เสียภาษีครบถ้วนหรือไม่

3. การสอบยันยอดใบกำกับภาษี โดยการทำใบกำกับภาษีปลอม เพื่อขอคืนภาษีและบันทึกค่าใช้จ่าย ดังนั้น กรมสรรพากรจึงใช้วิธีการตรวจสอบภาษีด้วยการสอบยันยอดกับใบกำกับภาษีที่ผู้ขายได้ยื่นไว้เพื่อดูว่ามีการปลอมใบกำกับภาษีหรือไม่ จากนั้นจึงคิดคำนวณภาษีที่ถูกหลีกเลี่ยงไปพร้อมกับเรียกเก็บย้อนหลัง

4. การตรวจสอบการคืนภาษี วิธีนี้จะใช้ตรวจภาษีกับบุคคลธรรมดา และนิติบุคคลที่ขอคืนภาษี ว่ามีการขอคืนภาษีโดยครบถ้วนถูกต้องหรือไม่

5. การตรวจค้น วิธีนี้จะใช้ในกรณีที่สงสัยว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีจำนวนมากและชัดเจน โดยจะเข้าทำการตรวจค้นเพื่อหาหลักฐานเพิ่มเติม พร้อมทั้งยึดและอายัดบัญชีรวมถึงเอกสารต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับการหลีกเลี่ยงภาษีไว้ด้วย

6. การออกหมายเรียกตรวจสอบภาษี กรมสรรพากรจะทำการออกหมายเรียกเพื่อตรวจสอบภาษี โดยผู้เสียภาษีจะต้องส่งมอบบัญชีและเอกสารต่างๆ ให้พนักงานทำการตรวจสอบ ซึ่งหากพบว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีก็จะดำเนินการเรียกคืนภาษีย้อนหลังต่อไป

การตรวจสอบภาษีย้อนหลัง มีอายุความเท่าไหร่

สำหรับการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลนั้น จะมีอายุความตามหมายเรียก ภายใน 2 ปี นับจากวันที่ยื่นภาษี แต่ถ้ามีหลักฐานว่าบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลนั้นจงใจหลีกเลี่ยงการจ่ายภาษีจริงจะสามารถขยายเวลาอายุความออกไปได้ถึง 5 ปี

นอกจากนั้น สำหรับผู้ที่ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเลยและถูกตรวจพบภายหลัง ก็จะมีการเรียกเก็บภาษีย้อนหลังเช่นกัน โดยจะยึดเอาตามระยะเวลาอายุความทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นระยะเวลา 10 ปีนั่นเอง

บทลงโทษกรณียื่นภาษีไม่ถูกต้อง

หลายคนคงเริ่มสงสัยแล้วว่า ถ้ากรณีบุคคลและนิติบุคคลลืมยื่นภาษีหรือยื่นภาษีล่าช้า จะมีบทลงโทษอย่างไรบ้าง ซึ่งบทลงโทษและค่าปรับจะลดหลั่นกันไปตามความผิด ดังต่อไปนี้

1. ยื่นแบบภาษีทันกำหนด แต่จ่ายภาษีไม่ครบ มีค่าปรับดังนี้

• เสียเบี้ยปรับ 0.5 - 1 เท่า ของภาษีที่ต้องจ่าย

• เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ

2. ไม่ได้ยื่นแบบภาษีภายในกำหนด มีค่าปรับดังนี้

• มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 2,000 บาท

• เสียเบี้ยปรับ 1 - 2 เท่า ของค่าภาษีที่ต้องจ่าย

• เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ

3. เจตนาละเลยไม่ยื่นแบบภาษีภายในกำหนดเพื่อเลี่ยงภาษี มีค่าปรับดังนี้

• มีโทษปรับทางอาญาสูงสุด 5,000 บาท จำคุกสูงสุด 6 เดือน

• เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่าย

• เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ

4. หนีภาษี มีค่าปรับดังนี้

• มีโทษปรับทางอาญาตั้งแต่ 2,000 - 200,000 บาท จำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี

• เสียเบี้ยปรับ 2 เท่าของค่าภาษีที่ต้องจ่าย

• เสียเงินเพิ่ม 1.5% ต่อเดือนของภาษีที่ต้องจ่าย โดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดให้ยื่นแบบจนถึงวันที่จ่ายครบ

*ในกรณีที่เป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำของนิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการหรือผู้จัดการ ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดตามที่กล่าวข้างต้น

กรณีถ้าหากคุณโชคร้าย โดนเรียกเก็บภาษีย้อนหลังขึ้นมา ในกรณีที่คุณผิดจริง ก็ไม่สามารถทำอะไรได้นอกจากไปจ่ายภาษี แต่ถ้าคุณไม่ได้มีความผิดจริง ก็สามารถนำหลักฐานต่างๆไปเข้าพบกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรได้เพื่อตรวจสอบความจริงต่อไป

สุดท้ายนี้อย่าลืมติดตามข่าวสารเรื่องภาษี เพราะแต่ละปีจะมีกฎหมาย หรือเงื่อนไขใหม่ๆ ออกมา ที่อาจเป็นผลประโยชน์ต่อเราในการลดหย่อนภาษี และเสียภาษีได้ที่ทางเว็บไซต์กรมสรรพากร

https://www.rd.go.th/

ผู้เขียน : จิรวัฒน์ จัดสวย บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด

Transparency Report

Read our 2024 Transparency Report

transparency

เกี่ยวกับเรา

บริษัทรับตรวจสอบบัญชี ให้บริการด้วยนักวิชาอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบและการบริการให้ความเชื่อมั่นอื่น

Privacy Notice | Cookie Policy

etax