178 อาคารธรรมนิติ ชั้น 6-7 ซอยเพิ่มทรัพย์ (ประชาชื่น20) ถนนประชาชื่น แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร 10800

ข่าวสารวิชาชีพ

ตรวจสอบบัญชีอย่างไร เมื่อลูกค้าตั้งใจปกปิดความจริง

ตรวจสอบบัญชีอย่างไร เมื่อลูกค้าตั้งใจปกปิดความจริง

ผู้สอบบัญชีมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการตรวจสอบและรวบรวมหลักฐานที่เหมาะสมอย่างเพียงพอเพื่อแสดงความเห็นต่องบการเงินว่ามีข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญหรือไม่ โดยอยู่ภายใต้กรอบของมาตรฐานการสอบบัญชีที่กำหนดให้ผู้สอบบัญชีต้องทำการตรวจสอบยอดคงเหลือในบัญชีที่เป็นสาระสำคัญ และทดสอบการควบคุมภายในที่ฝ่ายบริหารเป็นผู้ออกแบบและจัดให้มีขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมที่เป็นปกติธุรกิจ และเชื่อมั่นได้ว่าเอกสารหลักฐานที่ได้จากการตรวจสอบถูกต้องและเชื่อถือได้

แต่ถ้า…….เอกสารหลักฐานเหล่านั้นถูกจัดทำขึ้นโดยตั้งใจเพื่อตบตาหรือปกปิดซ่อนเร้นความจริงบางอย่าง เพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการของบุคคล หรือ กลุ่มบุคคลแล้วนั้น ผู้สอบบัญชีจะสามารถตรวจสอบเพื่อให้ได้รู้ความจริงในเรื่องนี้ได้อย่างไร?

การปกปิดความจริง นำมาซึ่งการตกแต่งตัวเลขในงบการเงินด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การเลื่อนการรับรู้รายได้ การสร้างรายได้ปลอม การตกแต่งมูลค่าสินทรัพย์ การตกแต่งค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้า การปกปิดการบันทึกหนี้สิน เป็นต้น กระบวนการปกปิดความจริงในลักษณะดังกล่าว ส่วนใหญ่จะถูกวางแผนโดยผู้บริหารที่มีอำนาจในการสั่งการตั้งแต่เริ่มต้นของกระบวนการ และออกแบบส่งต่อมายังผู้ที่เกี่ยวข้องและสมรู้ร่วมคิดเพื่อให้เห็นว่ารายการที่เกิดขึ้นเป็นรายการปกติ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายที่กระบวนการตรวจสอบของผู้สอบบัญชีจะตรวจพบความผิดปกติของลักษณะรายการดังกล่าว สัญญาณเตือนภัยที่ผู้สอบบัญชีสามารถรู้ได้ว่าอาจมีการทำรายการที่ผิดปกติ ได้แก่

 อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของเจ้าของเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

 ระยะเวลาการเก็บหนี้นานขึ้น

 มีสินค้าคงเหลือสูงมากผิดปกติ (สินค้าอาจไม่มีอยู่จริง)

 ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น

 ยอดขายเพิ่มขึ้นแต่กำไรลดลง

 หนี้สูญเพิ่มสูงขึ้น

 มีการจัดจำหน่าย (Write-Off) บ่อยครั้ง หรือตัดจำหน่ายรายการที่ดูซับซ้อนมากเกินไป

 บันทึกรายได้ แต่ไม่มีการส่งของจริง

 บริษัทมีกำไรสุทธิแต่ไม่สอดคล้องกับกระแสเงินสดที่ติดลบ

 มีบัญชีเงินมัดจำ หรือ ค่าใช้จ่ายจ่ายล่วงหน้าที่มูลค่าสูง และมีรายการเคลื่อนไหวในบัญชีนี้บ่อยครั้ง

 มีข่าวลือรายการขัดแย้งทางผลประโยชน์

 มีการทำรายการเกี่ยวโยงกับบุคคลหรือกิจการที่เกี่ยวข้องกัน

 ใช้สำเนาเป็นเอกสารจ่ายเงิน

วิธีการตรวจสอบแบบคาดการณ์ไม่ได้ (surprise audit) เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยตรวจเจอรายการที่ผิดปกติได้ ซึ่งผู้สอบบัญชีต้องออกแบบวิธีการ กำหนดระยะเวลาและขอบเขตให้เหมาะสมกับลักษณะของรายการบัญชี และกำหนดทีมงานที่มีประสบการณ์ในการตรวจสอบรายการนั้น อย่างไรก็ดี ผู้สอบบัญชีต้องประเมินหลักฐานด้วยความระมัดระวัง การสังเกตและสงสัยเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ (professional skepticism) ประเมินสถาณการณ์ จดบันทึกเหตุการณ์ข้อมูลที่ได้พบเห็นในกระดาษทำการให้ครบถ้วน เพื่อเป็นหลักฐานว่าได้มีการปฎิบัติงานโดยครบถ้วนแล้ว รวมถึงต้องสื่อสารรายงานข้อเท็จจริงที่ตรวจพบให้กับผู้ที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลทราบ ท้ายสุดแล้วหากพบว่าตนเองไม่สามารถปฎิบัติงานตรวจสอบให้สำเร็จได้แล้วนั้น ผู้สอบบัญชีอาจต้องพิจารณาถอนตัวจากลูกค้ารายนั้น

นักบัญชี หรือ ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี มักถูกตรวจพบเป็นผู้สมรู้ร่วมคิดในการปกปิด ตกแต่งตัวเลขในงบการเงิน เป็นบุคคลแรก ดังนั้น หากผู้ประกอบวิชาชีพยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความเป็นอิสระ และเที่ยงธรรม กระบวนการปกปิดความจริงคงเริ่มต้นขึ้นไม่ได้อย่างแน่นอน

ชื่อผูัเขียน : คุณพจนรัตน์ ศิริพิพัฒน์ บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด

อ้างอิง การตรวจสอบทุจริต (Fraud Audit) อ.ศิวะรักษ์พินิจารมณ์

การทุจริตโดยการตกแต่งงบการเงิน อ.ฐิตาภรณ์ สินจรูญศักด์ิ คณะบัญชี มหาวิทยาลัยศรีปทุม มาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 240 ความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีเกี่ยวกับการพิจารณาการทุจริตในการตรวจสอบงบการเงิน

เกี่ยวกับเรา

บริษัทรับตรวจสอบบัญชี ให้บริการด้วยนักวิชาอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบและการบริการให้ความเชื่อมั่นอื่น

Privacy Notice

etax