178 อาคารธรรมนิติ ชั้น 6-7 ซอยเพิ่มทรัพย์ (ประชาชื่น20) ถนนประชาชื่น แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร 10800

ข่าวสารวิชาชีพ

คาร์บอนเครดิตกับภาษี



คาร์บอนเครดิตกับภาษี

คาร์บอนเครดิต คืออะไร หากเป็นในช่วง 10-20 ปีที่ผ่านมา คาร์บอนเครดิตจะรู้จักและเข้าใจกันเฉพาะกลุ่ม แต่ปัจจุบันมีหน่วยงาน และข่าวสารต่าง ๆ ที่มีการพูดถึงคาร์บอนเครดิตกันอย่างต่อเนื่อง ที่มาของคาร์บอนเครดิตเริ่มจากโลกมีการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและธรรมชาติที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ ผู้นำประเทศต่าง ๆ รวมถึงสหประชาชาติ ได้ร่วมประชุมออกนโยบายสิ่งแวดล้อม และร่างสัญญาระหว่างกัน เพื่อสร้างความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาของสภาพอากาศ โดยเฉพาะปัญหาภาวะโลกร้อน และสภาวะเรือนกระจก สำหรับประเทศไทยได้มีการเข้าร่วมให้สัตยาบันพิธีสารเกียวโต โดยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่ไม่ถูกบังคับให้มีการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก แต่สามารถร่วมดำเนินโครงการได้ โดยทางรัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาประกาศจัดตั้ง “องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)” เมื่อปี 2550 เป็นหน่วยงานให้บริการ ดูแล และกำหนดมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการวัด การรายงาน การทวนสอบ และให้การรับรองลดการปล่อยและการชดเชยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมส่วนใหญ่มาจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมักจะมาจากโรงงานอุตสาหกรรม และการขนส่ง จึงมีการคิดกลไกเพื่อผลักดันให้มีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยการซื้อขายคาร์บอนเครดิตนั่นเอง

คาร์บอนเครดิต คือ สิทธิที่เกิดจากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยสิทธิดังกล่าวสามารถวัดปริมาณ และสามารถนำไปซื้อขายในตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้ เช่น บริษัทหนึ่งทำการผลิตสินค้า หรือทำกิจกรรมใด ๆ และก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ขึ้น จึงต้องมีการทำกิจกรรมเพื่อลดก๊าซคาร์บอนลง เช่น การปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อให้ต้นไม้ไปดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นต้น หากในปีใดบริษัทมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานจะถูกตีราคาเป็นเงินก่อนจะขายให้องค์กรอื่นที่ไม่สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน โดยตลาดคาร์บอนเครดิตปัจจุบันสามารถแบ่งออกได้ 2 กลุ่ม คือ ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market) และ ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market)

1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market)

ถูกจัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย โดยมีกฎหมายและระเบียบต่าง ๆ ที่กำหนดกฎเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งรัฐบาลจะเป็นคนออกกฎหมาย และควบคุมดูแลทั้งหมด ผู้ที่เข้าร่วมจะต้องมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย หากสามารถปฏิบัติตามได้ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ในทางตรงกันข้าม หากไม่สามารถปฏิบัติตามได้ก็จะมีบทลงโทษเช่นกัน โดยตลาดภาคบังคับส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศที่พัฒนาแล้ว

2. ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market)

จัดตั้งขึ้นในรูปแบบที่ไม่มีกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นเรื่องของความร่วมมือจากผู้ประกอบการต่าง ๆ ที่สมัครใจเข้าร่วมซื้อขายคาร์บอนเครดิต ซึ่งจะมีการตั้งเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน เพียงแต่จะไม่มีผลตามกฎหมายนั่นเอง โดยองค์กรใดที่มีคาร์บอนเครดิตสามารถนำมาขายในตลาดนี้ได้ และองค์กรมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกินกว่าที่เกณฑ์กำหนดก็สามารถเข้ามาซื้อคาร์บอนเครดิตนี้ในตลาดได้ โดยในประเทศไทยมีตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจด้วยเช่นกัน ซึ่งมีตัวกลางที่เข้ามาคำนวณและออกใบรับรองให้ก็คือ “องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

ในประเทศไทยมีโครงการลดก๊าซเรือนกระจกที่มีการขายคาร์บอนเครดิตชื่อว่า โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction : T-VER) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติให้ขยายระยะเวลาการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิที่เกิดจากการขายคาร์บอนเครดิตในประเทศตามโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจที่ได้ขึ้นทะเบียนกับ “องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)” ตั้งแต่พระราชกฤษฎีกามีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2570 เป็นระยะเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน

คาร์บอนเครดิตเป็นกลไกหนึ่งที่ใช้เพื่อผลักดันให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังมีอีกกลไกที่หลายประเทศหยิบมาใช้คือมาตรการภาษีที่เรียกว่า “ภาษีคาร์บอน” หรือ Carbon Tax

ภาษีคาร์บอน คือ ภาษีที่รัฐบาลของแต่ละประเทศจะเรียกเก็บจากผู้ประกอบการและองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์กำหนด เช่น คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2), มีเทน (CH4), ไนตรัสออกไซด์ (N2O) และก๊าซกลุ่มฟลูออริเนต (F-Gases) เป็นต้น ที่เกิดจากกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ และกิจกรรมต่าง ๆ ในการดำเนินธุรกิจ เช่น การผลิตกระแสไฟฟ้า การขนส่ง ผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการตัดต้นไม้ เป็นต้น รูปแบบของการเรียกเก็บภาษีจะคำนวณโดยการนำปริมาณคาร์บอนส่วนเกินคูณกับอัตราภาษีคาร์บอน ซึ่งแต่ละประเทศจะมีฐานภาษีไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่แบ่งฐานภาษีออกเป็น 2 แบบ คือ

1. ภาษีคาร์บอนทางตรง คือ เก็บภาษีจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจาการผลิตสินค้าและบริการโดยตรง ซึ่งมักจะมีอัตราภาษีที่สูงกว่า เช่น การเผาขยะ การเผาไหม้ของยานพาหนะต่าง ๆ การเผาไหม้ของเครื่องจักรในโรงงาน

2. ภาษีคาร์บอนทางอ้อม คือ เก็บภาษีจากปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามการบริโภคแต่ไม่ได้เป็นผู้ผลิตเอง เช่น การซื้อพลังงานมาใช้ รวมถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก เช่น กระดาษ หมึกพิมพ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์

 

นอกจากการเก็บภาษีคาร์บอนในแต่ละประเทศแล้ว ปัจจุบันยังมีแนวคิดใหม่ Carbon Border Tax หรือภาษีคาร์บอนข้ามแดน เป็นภาษีนำเข้าสินค้าที่เรียกเก็บจากประเทศที่ไม่มีมาตรการบังคับใช้กฎหมายภาษีคาร์บอน ดังนั้นผู้ประกอบการประเทศไหนที่ไม่มีมาตรการทางภาษีก็ต้องหันมาดำเนินการตามมาตรการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง หากยังต้องการค้าขายกับต่างประเทศที่ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ การปรับตัวให้ธุรกิจมีความยั่งยืนตั้งแต่เนินๆ จะทำให้มีความได้เปรียบทางการแข่งขัน มิเช่นนั้นผู้ประกอบการก็จะต้องแบกรับต้นทุนการค้าที่สูงขึ้น

 

ผู้เขียน : คุณอุมาภรณ์ ยุติธรรม

เกี่ยวกับเรา

บริษัทรับตรวจสอบบัญชี ให้บริการด้วยนักวิชาอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบและการบริการให้ความเชื่อมั่นอื่น

Privacy Notice | Cookie Policy

etax