ภาษีที่ควรรู้เกี่ยวกับการให้โดยเสน่หา
ภาษีที่ควรรู้เกี่ยวกับการให้โดยเสน่หา การให้โดยเสน่หา สำหรับผู้ให้ และ ผู้รับ ไม่ว่าจะเป็นเงินทอง ที่ดิน หรือบ้าน เป็นต้น ต้องเสียภาษีเท่าไหร่ และทำอย่างไรบ้าง
ท่านทั้งหลายอาจจะคุ้นเคยกับการได้รับเงินและการให้เงินกับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง หรือบุคคลอื่นๆอยู่แล้ว แต่ทราบกันหรือไม่ว่า การให้ดังกล่าวเป็นการให้โดยเสน่หา จะต้องเสียภาษีด้วย ซึ่งจัดเป็นภาษีการรับให้ โดยผู้ให้และผู้รับอาจต้องเสียภาษีการรับให้นี้ หากการให้และการรับเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
ภาษีการรับให้ เป็นภาษีที่ถูกจัดเก็บในกรณีที่เจ้าของทรัพย์สินโอนเงินหรือทรัพย์สินให้แก่บุคคลอื่นในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นภาษีที่จัดเก็บเพื่อป้องกันการหลีกเลี่ยงภาษีมรดกโดยผู้ที่ต้องเสียภาษีการรับให้ได้แก่
• บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส
• บุคคลธรรมดาที่ได้รับเงินจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธี หรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี จากบุคคลอื่นซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส
• บิดามารดาที่เป็นผู้โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิในการครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม
โดยผู้ให้และผู้รับจะต้องเสียภาษีในรูปแบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะมูลค่าสินทรัพย์ที่ได้รับในส่วนที่เกิน 10 ล้านบาทและ 20 ล้านบาท ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
ประเภทที่ 1 สังหาริมทรัพย์
• สังหาริมทรัพย์ทุกประเภทที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ เช่น เงินสด ทองคำ ทรัพย์สินต่างๆ ถูกกำหนดให้เสียภาษีในอัตรา 5% ของมูลค่าส่วนเกิน แต่จะต้องพิจารณาด้วยว่า ผู้ให้และผู้รับเป็นใคร
• เงินได้ที่ได้รับยกเว้น ได้แก่
1. เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะหรือจากการให้โดยเสน่หาจากบุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น
2. เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา หรือจากการให้จากบุคคลซึ่งมิใช่บุพการี ผู้สืบสันดาน หรือคู่สมรส โดยเสน่หา เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 10 ล้านบาทตลอดปีภาษีนั้น
3. เงินได้ที่ได้รับซึ่งผู้ให้แสดงเจตนาหรือเห็นได้ว่ามีความประสงค์ให้ใช้เพื่อประโยชน์ในกิจการศาสนา กิจการศึกษาหรือกิจการสาธารณประโยชน์ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
ประเภทที่ 2 อสังหาริมทรัพย์
• อสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท เช่น บ้าน โรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง ที่ดิน กำหนดให้เสียในอัตรา 5 % ของมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ส่วนที่เกินกว่า 20 ล้านบาท โดยบิดามารดาที่เป็นผู้โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งไม่รวมบุตรบุญธรรม จะต้องเป็นผู้เสียภาษีการรับให้นี้
• เงินได้ที่ได้รับยกเว้น หากบิดาหรือมารดาโอนกรรมสิทธิ์ หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่บุตรชอบด้วยกฎหมายซี่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม เฉพาะเงินได้ในส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษีจะได้รับการยกเว้น
• การหักภาษี ณ ที่จ่าย สำหรับกรณีที่มีการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองอสังหาริมทรัพย์ในคราวเดียวกัน ที่มีมูลค่าเกินกว่า 20 ล้านบาท ให้มีการหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตรา 5 % ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกินกว่า 20 ล้านบาท
การยื่นภาษีรับให้
• ทรัพย์สินที่มีการรับให้ดังกล่าวมาแล้ว จัดเป็นเงินได้อื่นๆ (ประเภทที่ 8) ดังนั้น ผู้รับมีหน้าที่ต้องเสียภาษี สามารถยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภ.ง.ด.90) ได้ด้วยตนเอง ภายในกำหนดเวลา 31 มีนาคม หรือยื่นแบบออนไลน์ ได้ถึง 8 เมษายน ของทุกปี
• โดยสามารถเลือกเสียภาษีในอัตรา 5 % ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกินตามกฎหมายกำหนด หรือจะเลือกนำไปรวมคำนวณกับเงินได้อื่นๆ ก็ได้
สรุป
ภาษีการรับให้ คือเรื่องของคนให้และจำนวนเงินที่ผู้รับได้รับในแต่ละปีภาษี ดังนั้น ใครที่ได้รับสังหาริมทรัพย์ เช่น เงินสด ทองคำ มูลค่าสินทรัพย์เกิน 10 ล้านบาท และ 20 ล้านบาท ตามเงื่อนไขที่กำหนดจำเป็นต้องวางแผนไว้ล่วงหน้าก่อนถึงช่วงยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี โดยคำนวณให้ดีว่าจะยอมเสียภาษี 5% จากมูลค่าสินทรัพย์ส่วนที่เกิน หรือจะนำมารวมกับรายได้อื่น ๆ แล้วเสียภาษีแบบอัตราก้าวหน้า แบบไหนจะประหยัดภาษีมากกว่ากัน
ทั้งนี้ ยกเว้นการจัดเก็บภาษีการรับให้สำหรับเงินอัดฉีดที่มอบให้นักกีฬา สต๊าฟโค้ช ที่สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศ กล่าวคือ หากผู้รับเป็นนักกีฬา สต๊าฟโค้ช และเงินที่ได้รับเป็นเงินอัดฉีดเกิน 10 ล้านบาท จะได้รับยกเว้นภาษีให้เป็นกรณีพิเศษ โดยไม่ต้องนำเงินอัดฉีดส่วนที่เกิน 10 ล้านบาท มาเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ผู้เขียน : คุณกาญจนา คำหอม
ที่มา : กรมสรรพากร, กรุงเทพธุรกิจ, Inflow Accounting