“การยกหนี้ให้” ตอนที่ 2/2
ในบทความการยกหนี้ให้ในตอนที่ 1 ได้กล่าวถึงการยกหนี้ให้จากกรณีที่ไม่สามารถจ่ายชำระคืนเงินกู้ยืมกรรมการได้ไปแล้วนั้น ในตอนที่ 2 นี้มาติดตามการยกหนี้ให้กันอีกรูปแบบนึง คือการยกหนี้ให้จากการให้บริการด้านเทคนิคการผลิตต่างๆ ของบริษัทแม่ (อันนี้ต้องดูว่าแม่เป็นไทยหรือต่างชาติด้วยนะ) ซึ่งถ้าเป็นบริษัทที่ไม่เกี่ยวข้องกันคงไม่เกิดการยกหนี้ให้กันเป็นแน่! จากการที่บริษัทแม่เรียกเก็บค่าบริการทุกๆ เดือนตามอัตราในสัญญาระหว่างกัน แต่บริษัทไม่สามารถจ่ายชำระได้ อีกทั้งบริษัทก็ยังดำเนินกิจการโดยมีผลขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ทางบริษัทแม่เห็นว่าฐานะการเงินและสภาวะเศรษฐกิจขณะนี้ก็ไม่ดี จึงมีมติที่จะยกหนี้ดังกล่าวให้กับบริษัท ดังนั้นอเมื่อมีการยกหนี้ให้ นักบัญชีอย่างเราต้องทำอย่างไรบ้าง?
1. หลักฐานการยกหนี้
บริษัทต้องมีหลักฐานชัดเจนจากบริษัทแม่ เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทไม่มีภาระผูกพันต่อเจ้าหนี้นั้นแล้ว บริษัทจึงจะบันทึกตัดรายการเจ้าหนี้ออกจากบัญชีตามข้อเท็จจริงนั้นได้
2. การบันทึกบัญชี
ในกรณีนี้เป็นการยกหนี้ที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการ ดังนั้นตามหลักการบัญชีสามารถบันทึกรายการดังกล่าวเป็นรายได้ ดังนี้
เดบิต เจ้าหนี้อื่น / ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย 15 ล้านบาท
เครดิต รายได้จากการยกหนี้ให้กัน 15 ล้านบาท (งบกำไรขาดทุน)
(หากแม่อยู่ต่างประเทศต้องใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ณ วันที่ทำรายการ ในการบันทึกบัญชี)
3. ภาษีที่เกี่ยวข้อง
1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณียกหนี้ให้กัน บริษัทมีภาระที่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม อัตราร้อยละ 7 ในกรณีบริษัทแม่อยู่ในประเทศไทยนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภพ.30 และหากเป็นบริษัทแม่อยู่ต่างประเทศต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบ ภพ.36 โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ณ วันที่ทำรายการ (ซึ่งบริษัทสามารถนำ ภพ.36 ที่จ่ายนั้น ไปใช้เครดิตภาษีซื้อในเดือนถัดไปได้)
2. ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ค่าใช้จ่ายดังกล่าวเป็นการจ่ายจากการให้บริการตามมาตรา 40(8) ภาษีหัก ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 หากบริษัทพิจารณาเรื่องมาตรา 70 ได้รับยกเว้นไม่ต้องจ่ายภาษีหัก ณ ที่จ่าย (มาตรา 70 ต้องเป็น 40(2)-(6) เท่านั้น)
3. ภาษีเงินได้นิติบุคคล การยกหนี้ให้กัน ถือว่าบริษัทไม่ต้องจ่ายชำระหนี้ บริษัทก็ต้องรับรู้เป็นรายได้ที่ต้องนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล
ผู้เขียน : คุณสุลลิต อาดสว่าง
บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด