178 อาคารธรรมนิติ ชั้น 6-7 ซอยเพิ่มทรัพย์ (ประชาชื่น20) ถนนประชาชื่น แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร 10800

ข่าวสารวิชาชีพ

ความสำคัญที่ผู้สอบบัญชีต้องสื่อสารกับผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแล




ความสำคัญที่ผู้สอบบัญชีต้องสื่อสารกับผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแล2568

คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่างานตรวจสอบบัญชีเป็นงานที่ต้องตรวจสอบบัญชีในห้องกับเอกสารกองใหญ่ และไม่จำเป็นต้องออกไปติดต่อสื่อสารกับใคร แต่ในความจริงแล้ว ผู้สอบบัญชีต้องให้ความสำคัญการสื่อสารกับผู้มีหน้าที่กำกับดูแลของบริษัท เพื่อให้ทราบถึงความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีในการตรวจสอบงบการเงิน รวมถึงภาพรวมของขอบเขตและช่วงเวลาของการสอบบัญชีตามที่ได้วางแผนไว้ การได้มาซึ่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสอบบัญชี ข้อสังเกตจากการตรวจสอบซึ่งมีนัยสำคัญ กระบวนการในการจัดทำรายงานทางการเงิน และการสื่อสารแบบสองทางที่มีประสิทธิผลระหว่างผู้สอบบัญชีและผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแล

 

 

ผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแล คือใคร

        ผู้มีหน้าที่กำกับดูแล  คือ  บุคคลหรือกลุ่มบุคคล หรือองค์กรหรือกลุ่มองค์กร ที่มีความรับผิดชอบในการสอดส่องดูแล การกำหนดแนวทางเชิงกลยุทธ์ของกิจการ และภาระความผิดชอบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือของกิจการ ซึ่งรวมถึงการสอดส่องดูแลกระบวนการในการจัดทำรายงานทางการเงิน และอาจรวมถึงบุคลากรที่ทำ หน้าที่ในการบริหารจัดการ

         โดยปกติโครงสร้างการกำกับดูแลของกิจการอาจแตกต่างกันในแต่ละประเทศหรือแต่ละกิจการ ซึ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของความแตกต่างทางพื้นฐานด้านวัฒนธรรมและด้านกฎหมาย รวมถึงความแตกต่างด้านขนาดของกิจการและลักษณะความเป็นเจ้าของกิจการ เช่น การกำหนดให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลกิจการ ทั้งรูปแบบรวมและแยกต่างหากตามกฎหมายจากคณะกรรมการบริหาร และบางประเทศกำหนดให้เป็นความรับผิดชอบทางกฎหมายของคณะกรรมการชุดเดียวกันหรือคณะกรรมการร่วม

 

“เรื่องที่ผู้สอบบัญชีต้องสื่อสาร” มีอะไรบ้าง
 

เรื่องที่ต้องสื่อสาร

รายละเอียด

1. ความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบงบการเงิน

- ความรับผิดชอบในการแสดงความเห็นต่องบการเงินที่ได้จัดทำขึ้นโดยผู้บริหารของกิจการภายใต้การกำกับดูแลของผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแล

 

- การตรวจสอบงบการเงินไม่ได้เป็นการปลดเปลื้องความรับผิดชอบของผู้บริหารและผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแล

2. ขอบเขตและช่วงเวลาของการสอบบัญชีที่ได้วางแผนไว้

-  การสื่อสารเกี่ยวกับขอบเขตและช่วงเวลาของการสอบบัญชี เพื่อให้ผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลเข้าใจการทำงานของผู้สอบบัญชีมากขึ้นรวมถึงการหารือประเด็นของความเสี่ยงและแนวคิดเกี่ยวกับความมีสาระสำคัญร่วมกับผู้สอบบัญชี

-  การสื่อสารเกี่ยวกับความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญที่ผู้สอบบัญชีได้ระบุไว้ เพื่อให้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลเข้าใจเกี่ยวกับความเสี่ยงนั้นๆ และเหตุผลที่ถูกกำหนดให้เป็นความเสี่ยงที่มีนัยสำคัญ

3. เรื่องสำคัญที่พบจากการสอบบัญชี

- การสื่อสารความคิดเห็นของผู้สอบบัญชีที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเชิงคุณภาพที่สำคัญของวิธีปฏิบัติทางบัญชีของกิจการ รวมถึงนโยบายบัญชี การประมาณการทางบัญชี และการเปิดเผยข้อมูลในงบการเงิน

-  อุปสรรคสำคัญที่พบในระหว่างการตรวจสอบบัญชี

-  เรื่องที่สำคัญ (หากมี) ที่เกิดขึ้นจากการตรวจสอบที่ได้มีการปรึกษาหารือหรือที่จะต้องหารือกับผู้บริหาร

-  สถานการณ์ที่กระทบต่อรูปแบบและเนื้อหาของรายงานของผู้สอบบัญชี (หากมี)

-  เรื่องที่สำคัญอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นจากการสอบบัญชีซึ่งผู้สอบบัญชีได้ใช้ดุลยพินิจเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพแล้วเห็นว่ามีความเกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกระบวนการในการจัดทำรายงานทางการเงิน

4. ความเป็นอิสระของผู้สอบบัญชี

   ในกรณีของกิจการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ผู้สอบบัญชี ต้องสื่อสารกับผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแล ในเรื่องดังต่อไปนี้

-  ข้อความว่ากลุ่มผู้ปฏิบัติงานตรวจสอบและผู้ปฏิบัติงานอื่นในสำนักงานสอบบัญชี (ตามความเหมาะสม) สำนักงานสอบบัญชี และสำนักงานเครือข่ายของสำนักงานสอบบัญชี (ในกรณีที่เกี่ยวข้อง) ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดจรรยาบรรณของผู้สอบบัญชีที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอิสระ

5. การสื่อสารข้อบกพร่องของการควบคุมภายใน

- สื่อสารอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรถึงข้อบกพร่องของการควบคุมภายในที่มีนัยสำคัญที่ผู้สอบบัญชีได้สื่อสารหรือมีความตั้งใจที่จะสื่อสารไปยังผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลของกิจการ เว้นแต่ผู้สอบบัญชีอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่เหมาะสมที่จะสื่อสารไปยังผู้บริหารโดยตรง

- สื่อสารข้อบกพร่องของการควบคุมภายในอื่นที่ผู้สอบบัญชีพบในระหว่างการตรวจสอบ ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานอื่นสื่อสารไปยังผู้บริหารของกิจการ และตามดุลยพินิจเยี่ยงผู้ประกอบ วิชาชีพของผู้สอบบัญชีเห็นว่ามีความสำคัญเพียงพอที่สมควรได้รับความสนใจจากผู้บริหารของกิจการ

- ผู้สอบบัญชีต้องสื่อสารเป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับข้อบกพร่องของการควบคุมภายในที่มีนัยสำคัญ โดยต้องมีคำอธิบายของข้อบกพร่องและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และข้อมูลที่เพียงพอที่จะทำให้ผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลและผู้บริหารของกิจการเข้าใจเนื้อหาของการสื่อสาร

 

 

กระบวนการสื่อสารกับผู้มีหน้าที่ในการกำกับดูแลและการจัดทำเอกสารหล้กฐาน

 

1. การสร้างกระบวนการการสื่อสาร 

      ผู้สอบบัญชีต้องคำนึงถึงการสื่อสารที่ชัดเจนเกี่ยวกับความรับผิดชอบของผู้สอบบัญชี ขอบเขตและช่วงเวลาของการสอบบัญชีที่ได้วางแผนไว้ และเนื้อหาสาระทั่วไปที่คาดว่าการสื่อสารจะช่วยเสริมสร้างพื้นฐานของการสื่อสารแบบสองทางอย่างมีประสิทธิผล 

2. รูปแบบของการสื่อสาร 

      ผู้สอบบัญชีต้องสื่อสารอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรสำหรับประเด็นสำคัญที่ตรวจพบจากการสอบบัญชี (การสื่อสารเป็นลายลักษณ์อักษรไม่จำเป็นที่จะต้องมีทุกประเด็นที่ตรวจพบ) และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเป็นอิสระของผู้สอบบัญชี

3. ช่วงเวลาของการสื่อสาร 

      ผู้สอบบัญชีต้องสื่อสารอย่างทันท่วงทีตลอดการตรวจสอบในเรื่องที่ผู้สอบบัญชีได้หารือและมีการสนทนาแต่ละประเด็นของเรื่องนั้นอย่างละเอียด และปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการกำหนดช่วงเวลาของการสื่อสาร 

 

4. ความเพียงพอของกระบวนการสื่อสาร 

      ผู้สอบบัญชีต้องประเมินว่าการสื่อสารแบบสองทางนั้นเพียงพอตามวัตถุประสงค์ของการสอบบัญชี (กรณีไม่เพียงพอตามวัตถุประสงค์ ผู้สอบบัญชีต้องประเมินถึงผลกระทบ (หากมี) ต่อการประเมินความเสี่ยงของการแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญและความสามารถในการได้มาซึ่งหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสมอย่างเพียงพอ รวมทั้งต้องดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งที่เหมาะสม)

5. เอกสารหลักฐาน 

      เอกสารหลักฐานควรประกอบด้วย เอกสารหลักฐานของการสื่อสารทางวาจา อาจรวมถึงสำเนารายงานการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบที่จัดทำโดยกิจการ และสรุปเนื้อหาที่จัดเก็บไว้เป็นส่วนหนึ่งของเอกสารหลักฐานการสอบบัญชี หากรายงานการประชุมนั้นได้มีการบันทึกเนื้อหาการสื่อสารอย่างเหมาะสม

 

อ้างอิง : มาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 260 (ปรับปรุง) และมาตรฐานการสอบบัญชี รหัส 265

ผู้เขียน : คุณณัฏฐพล กลิ่นไชย

            บริษัท สอบบัญชีธรรมนิติ จำกัด

 

Transparency Report

Read our 2024 Transparency Report

transparency

เกี่ยวกับเรา

บริษัทรับตรวจสอบบัญชี ให้บริการด้วยนักวิชาอาชีพที่มีความเชี่ยวชาญในการตรวจสอบและการบริการให้ความเชื่อมั่นอื่น

Privacy Notice | Cookie Policy

etax